โรคตากุ้งยิง มีวิธีป้องกัน และรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี

39856

หากย้อนกับไปเมื่อวัยเด็ก คงจะไม่ค่อยมีใครที่ไม่เคยถูกเพื่อนล้อว่าไปแอบดูใครอาบน้ำ หรือไปแอบดูใครแก้ผ้ามา เพราะดันเกิดตุ่มแดงที่เปลือกตา หรือ ที่เราเรียกกันว่า “ โรคตากุ้งยิง ” แล้วมันเกิดจากกุ้งมายิงตาจริงหรือ มาไขข้อสงสัยกันคะ

โรคตากุ้งยิง

โรคตากุ้งยิง เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาเท่านั้นเองคะ ไม่ได้เกี่ยวกับกุ้งยิงเลย โดยปกติแล้วเราจะมีต่อมไขมันมากอยู่บริเวณใต้ผิวหนังที่เปลือกตาซึ่งจะคอยระบายไขมันออกมาได้โดยผ่านทางรูระบายเล็กๆใกล้ขนตาแต่เมื่อเกิดการอุดตันทำให้ไขมันระบายออกมาไม่ได้ จึงจับตัวเป็นก้อนที่บริเวณเปลือกตา และหากมีเชื้อโรคเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนอง แล้วมีอาการเจ็บบวมแดงรอบๆตา ทั้งนี้สาเหตุที่มักทำให้เกิดการติดเชื้อ ได้แก่ การขยี้ตาบ่อยๆ ทำให้เปลือกตาสกปรก การล้างเครื่องสำอางออกไม่หมดจด รวมทั้งการใส่ หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด

ตากุ้งยิงอาจจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้มาก คือเชื้อหนองStaphylococcus  aureus โดยมีอาการแรกเริ่ม ด้วยอาการคันบริเวณเปลือกตา ต่อมามีอาการบวม รู้สึกปวดบริเวณเปลือกตา เมื่อกดลงไปที่ก้อนจะรู้สึกเจ็บ และจะเริ่มเห็นหัวหนองภายใน 45 วัน หลังจากหนองจะแตกและยุบไป แต่ในกรณีที่หนองออกไม่หมดจะเกิดเป็นไตที่เปลือกตา และอาจกลับมาเป็นตาอักเสบได้อีก

เรามักพบว่าผู้ที่มีภาวะเป็นตากุ้งยิงได้บ่อย ได้ง่าย คือ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคเรื้อรัง และมีหนังตาอักเสบเรื้อรังคะ

โรคตากุ้งยิง แบ่งได้ 2 ชนิด คือ

1. กุ้งยิงชนิดหัวผุด เป็นการอักเสบบริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา มีลักษณะหัวฝีแสดงให้เห็นชัด มีลักษณะสีเหลือง ตรงกลางนูนแดง เวลากดจะรูสึกเจ็บ

2. ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน เป็นการอักเสบบริเวรเยื่อบุเปลือกตา ที่อยู่ลึกจากขอบตาเข้าไป ต้องปลิ้นเปลือกตาออกมาจึงจะเห็น เพราะหัวฝีจะหลบอยู่ด้านในเปลือกตา เมื่อใช้นิ้วคลำจะพบตุ่มแข็งและเจ็บ หรืออาจเรียกว่า “ตาเป็นซิสต์”

สำหรับการรักษาตากุ้งยิงนั้น หากเริ่มเป็นในระยะแรก ซึ่งจะมีเพียงลักษณะของเปลือกตาอักเสบเท่านั้น ยังไม่มีหนอง เราสามารถรักษาได้ด้วยตนเองที่บ้านคะ โดยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบบริเวณเปลือกตา วันละ 6 ครั้ง นานครั้งละ 10 นาที ติดต่อกันนาน 3-4 วัน จะช่วยลดอาการบวม เจ็บ และทำให้รูของต่อมเปลือกตาเปิดไม่อุดตัน ควรหลับตาในขณะที่ทำการประคบน้ำอุ่นนะคะ

หากไม่หายควรไปพบแพทย์ซึ่งจะทำการเจาะเอาหนองออกและขูดหนองออก และให้ยาปฎิชีวนะรับประทาน 3-5 วัน ช่วยลดอาการอักเสบ หากฝ่าเอาหนองออกไม่หมดก็เสี่ยงที่จะกลับมาเป็นตากุ้งยิงซ้ำอีก

ถึงแม้ตากุ้งยิงจะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้เกิดแผลที่แก้วตา หรือเกิดความผิดปกติของดวงตาได้ อาจทำให้ตาอักเสบติดเชื้อไปที่ต่อมขนตา หรือเนื้อเยื่อรอบเปลือกตา อาจลุกลามเข้าไปถึงบริเวณด้านหลังลูกตา และลามไปถึงสมอง

สำหรับผู้ที่เป็นตากุ้งยิง ควรจะล้างมือให้สะอาดๆ บ่อยๆ หยุดใช้เครื่องสำอาง คอนแทคเลนส์  และไม่ควรบีบหนองที่เปลือกตาเองคะ อาจทำให้เกิดการอักเสบได้มาก

ส่วนผู้ที่ไม่อยากเป็นตากุ้งยิงก็ควรรักษาความสะอาดของมือที่จะมาสัมผัสกับตาของเรา อย่าขยี้ตาบ่อยๆ พยายามอย่าให้เส้นผม ขนตา แย่งตา เพราะจะทำให้ตาอักเสบได้คะ

ดูแลสุขภาพของดวงตาให้มากๆนะคะ เพราะดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ

ข้อมูลอ้างอิง

ตากุ้งยิง:  laservisionthai.com
ตากุ้งยิง: bangkokhealth.com
ตากุ้งยิง: siamhealth.net

Previous articleโรคพิษสุนัขบ้าในแมว มีอาการ และมีสาเหตุจากอะไรบ้าง
Next articleอาหารเป็นพิษ เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง