อาหารเป็นพิษ เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

19279

อาหารเป็นพิษ เป็นคำกว้างๆที่ใช้อธิบายถึงอาการป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อน ซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนของ เชื้อโรค สารเคมี โลหะหนัก

อาหารเป็นพิษ

อาหารเป็นพิษเป็นอาการที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มที่มีการปนเปื้อนทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง อาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง แต่หากเกิดความรุนแรงจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้ ผู้ที่รับเชื่อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1-2 วันขึ้นอยู่กับประเภทและปริมาณของเชื้อที่ร่างกายนำเข้าไป บางคนอาจจะมีอาการหลังรับประทานอาหารเพียงไม่กี่ชั่วโมงหรือบางคนอาจนานเป็นสัปดาห์ได้คะ

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษมักจะมีอาการรู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียนติดต่อกันหลายครั้ง หรืออาเจียนเป็นเลือด มีอาการปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพักๆเนื่องจากบีบตัวของลำไส้ ถ่ายท้องอาจมีมูกหรือถ่ายเป็นเลือด มีอาการสูญเสียของน้ำทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย อ่อนล้า วิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะน้อย ไม่มีความอยากอาหาร และมีอาการด้านระบบประสาท เช่น มองไม่ชัด แขนเป็นเหน็บ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น

เชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของ อาหารเป็นพิษ คือ

1. ซาลโมเนลลา (Salmonella) มักพบในเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นมูก คลื่นไส้อาเจียน ไข้ภายใน 4 – 7 วัน

2. เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coil) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “อีโคไล” (E.Coli) พบในเนื้อสัตว์ดิบ ทำให้เกิดอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ปวดมวนท้อง อาเจียนภายใน 1 – 10 วัน

3. คลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้อนี้พบในอาหารบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บรรจุกระป๋องที่ผ่านกระบวนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะเช่น หน่อไม้ปี๊บ หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง รวมทั้งผลิตภัณฑ์นเนื้อสัตว์แปรรูป สารพิษที่สร้างจากเชื้อชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการอาเจียน ถ่ายท้อง ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง บางครั้งรุนแรงจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวเสียชีวิตได้

4. ชิเกลล่า (Shigella) มักพบในผลิตภัณฑ์อาหารสดและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด รวมไปถึงอาหารสดที่สัมผัสกับบุคคลที่มีเชื้อโดยตรง เชื้อชนิดนี้สามารถกระจายจากบุคคลหนึ่งไปบุคคลหนึ่งได้ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดมวนท้อง ภายหลังจากรับประทานอาหารภายใน 7 วัน

5. ไวรัสก่อโรคผ่านทางเดินอาหาร (Enteric Viruses) ประกอบด้วยไวรัสหลายชนิด เช่นไวรัสโนโร (Norovirus) ซึ่งมักจะปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารสด สัตว์น้ำประเภทมีเปลือก และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด จะแสดงอาการภายใน 1-2 วัน หรือเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ที่สามารถติดต่อด้วยการรับเชื้อจากอาหารสดที่สัมผัสกับบุคคลที่มีเชื้อโดยตรงแสดงอาการภายใน 2-3 สัปดาห์

การวินิจฉัยอาการอาหารเป็นพิษ แพทย์จะดูปัจจัยหลายๆอย่างประกอบ เช่น อาการผู้ป่วย อาหารที่รับประทาน ระยะเวลาที่มีอาการปวดผู้ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณเกลือแร่ในเลือด หรือตรวจอุจจาระเพื่อค้นหาชนิดของเชื้อโรค

ภาวะอาหารเป็นพิษไม่ได้เป็นอันตรายมากนัก แต่สิ่งที่สำคัญที่ควรระวังคือภาวะแทรกซ้อน อย่าง อาการภาวะการขาดน้ำ เกลือแร่จากการถ่าย การอาเจียน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะช็อคและตายได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว นอกจากนี้เชื้อบางชนิดยังก่อให้เกิดอาการรุนแรงต่ออวัยวะอื่นๆได้

เราสามารถป้องกันการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ สะอาด รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร การใช้ช้อนกลาง รวมทั้งการรักษาความสะอาดของภาชนะที่ใช้ประกอบอาหาร สถานที่ประกอบอาหาร การจัดเก็บอาหารที่เหมาะสม  เพียงเท่านี้ภาวะอาหารเป็นพิษก็ไม่สามารถทำอะไรคุณได้แล้วคะ

ข้อมูลอ้างอิง

โรคอาหารเป็นพิษ: pobpad.com
กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ: boe.moph.go.th
โรคอาหารเป็นพิษ: doctor.or.th

Previous articleโรคตากุ้งยิง มีวิธีป้องกัน และรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
Next articleโรคมือเท้าปาก โรคที่ควรพึงระวังสำหรับลูกน้อย