ขั้นตอนการทำปลาร้า ทำไว้รับประทานในครัวเรือน

590

ปลาร้าเป็นอาหารท้องถิ่นที่นิยมรับประทานกันทางภาคอีสาน โดยจะนำปลาที่หามาได้ในท้องถิ่นมาหมักกับเกลือและรำข้าว เพื่อเป็นการถนอมไว้รับประทานได้นานๆ น้ำปลาร้า จะนำมาใส่ส้มตำ ใส่แกงเนื้อ แกงปลา ก็สามารถเพิ่มรสชาติให้กับเมนูนั้นๆได้เป็นอย่างดี

ชนิดของปลาที่นิยมนำมาทำปลาร้า

  • ปลาน้ำจืด ปลาหมอ, ปลาช่อน, ปลากระดี่, ปลากด, ปลาสร้อย, ปลาดุก, ปลาสลิด, ปลาตะเพียน, ปลานิล, ปลาชะโด, และปลาซิว
  • ปลาทะเล ปลากระบอก, ปลาจวด, ปลาทรายแดง, ปลาช่อนทะเล, และปลาแป้น

วิธีการทำปลาร้า

วัตถุดิบ

  • ปลาสด 8 กิโลกรัม
  • รำข้าว หรือข้าวคั่ว เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้ปริมาณ 3 ถ้วย
  • น้ำอุ่นที่ได้ต้มไว้แล้ว 4 ถ้วย
  • เกลือ 1 กิโลกรัมครึ่ง

ขั้นตอนการทำ

  • เลือกปลาให้มีขนาดพอเหมาะ ไม่ควรใช้ปลาที่น้ำหนักเกินกว่า 1 กิโลกรัม หรือปลาที่มีตัวใหญ่จนเกินไป เนื่องจากจะต้องใช้เวลาในการหมักนาน
  • นำปลามาขอดเกล็ดออกให้หมดก่อน ถ้าปลามีก้านคลีบแข็ง ยาว มีเงี่ยง จะต้องตัดออกก่อน จากนั้นนำไส้ปลาออกให้หมด ล้างทำความสะอาดปลา 3-4 น้ำ
  • ให้นำปลาที่ได้ล้างทำความสะอาดแล้วใส่ภาชนะ จากนั้นเติมเกลือลงไป ใส่รำข้าวหรือข้าวาคั่ว เทน้ำอุ่นลงไป จากนั้นคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน
  • นำปลาที่คลุกเคล้าส่วนผสมแล้ว เทใส่ไหหมักหรือถังหมัก ทำการรัดปิดปากไหหรือปิดถังหมักให้แน่น หมักทิ้งไว้ประมาณ 3-10 เดือน หรืออาจนานกว่านั้นตามขนาดของตัวปลา

ประเภทของปลาร้าตามข้าวที่ใส่

  • ปลาร้ารำข้าว สำหรับปลาร้ารำข้าวนิยมทำกันมากในแถบภาคอีสาน ใช้รำข้าวที่ได้จากโรงสีข้าวที่อยู่ในชุมชน ปลาร้ามักมีสีแดงอมน้ำตาล เนื้อของปลาร้ามีความอ่อนนุ่ม เป็นปลาร้าที่นิยมนำมาใส่ส้มตำ และนำมาทำปลาร้าบอง
  • ปลาร้าข้าวคั่ว สำหรับปลาร้าที่มีข้าวคั่วเป็นส่วนผสมจะทำกันมากในภาคกลาง เช่น อยุธยา สิงบุรี ลพบุรี เป็นต้น ปลาร้าจะมีสีเหลืองเข้ม หรือสีเหลืองนวล นิยมนำมาทำปลาร้าทรงเครื่อง หรือปลาร้าหลน

ประเภทของปลาร้าตามรสและกลิ่น

  • ปลาร้าหอม ใช้เวลาในการหมักประมาณ 6-10 เดือน น้ำปลาร้าสีน้ำตาล มีกลิ่นหอม เนื้อปลาอาจมีสีแดงหรือสีเหลืองตามชนิดของปลา
  • ปลาร้านัว ใช้เวลาหมักประมาณ 4-6 เดือน ก็จะได้ปลาร้าที่มีเนื้อปลาสีแดง กลิ่นหอมนุ่มนวล ได้รสชาตินัว
  • ปลาร้าโหน่ง เป็นปลาร้าที่มีกลิ่นฉุน กลิ่นค่อนข้างแรง เนื่องจากใช้เวลาในการหมักนานประมาณ 10 เดือน ถึง 1 ปี เนื้อปลาที่ได้จะมีลักษณะเปื่อยยุ่ย เป็นปลาร้าที่นิยมนำมาใช้ในการปรุงส้มตำ

สำหรับการทำปลาร้านั้นเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ใช้ในการถนอมอาหาร สามารถเก็บไว้รับประทานได้เป็นปี แต่หลังจากนำมารับประทาน หรือนำมาปรุงอาหารแล้ว ควรปิดฝาให้มิดชิด และหากสังเกตเห็นว่าปลาร้ามีเชื้อราขึ้นก็ไม่ควรนำมารับประทาน

Previous articleไฮไลท์ฟุตบอลเมื่อคืน เนเธอร์แลนด์ 2-3 อิตาลี (ฟุตบอลยูฟ่าเนชันส์ลีก)
Next article“เอ ศุภชัย” ไม่หยุดนิ่ง มีเยอะแบ่งปันเยอะ