ซิ่นตีนจก เอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยที่ควรได้รับการอนุรักษ์และสืบทอด

7207

การทอผ้า ซิ่นตีนจก เป็นการสืบทอดกันทางวัฒนธรรมประเพณีต่อกันมารุ่นสู่รุ่นในหมู่ผู้หญิง ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติของผู้หญิงที่ต้องหัดทอผ้าให้เป็นก่อนอายุ ๑๖ ปี โดยจะเริ่มหัดทอด้วยผ้าตีนจกนี้เองซึ่งเป็นการทอที่มีกรรมวิธียุ่งยากที่สุด หญิงสาวทุกคนจะมีผ้าซิ่นตีนจกประจำตัวของตนเอง เพราะผ้าซิ่นตีนจกเป็นผ้าสำคัญที่ใช้นุ่งในพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะงานบุญ งานแต่ง งานศพ

ซิ่นตีนจก

ประวัติที่มาของผ้าซิ่นตีนจก

ผ้าซิ่นตีนจก โดยปกติแล้วจะแบ่งส่วนของผ้าออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว(ส่วนบน) ส่วนตัว (ส่วนกลาง) และส่วนตีน (ส่วนล่างหรือตีนซิ่น) ผ้าซิ่นตีนจกจะใช้วิธีจกในการต่อเชิง(ส่วนล่าง)ให้มีลวดลายพิเศษแตกต่างกับผ้าซิ่นที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วๆไป ส่วนลายหลักที่ใช้ทอจกก็เป็นการสืบต่อๆกันมา และมีการพัฒนาลายขึ้นมาใหม่ก็ยังมีบ้าง

การทอผ้าจกเป็นการทอและปักผ้าไปพร้อมๆกัน จกคือ การล้วงหรือการควักเส้นด้ายบนผ้าทำให้เกิดลวดลายต่างๆ และเป็นการทอลวดลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกัน ไปตลอดหน้ากว้างของผ้า การจกจะใช้ไม้หรือขนแม่นหรือนิ้วก้อย จก(ล้วง) เส้นฝ้ายจาด้านล่างขึ้นด้านบน บนเส้นยืน ให้เกิดลวดลายตามที่ต้องการ

ผ้าซิ่นตีนจกจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรมและภูมิภาค อย่างเช่น ผ้าซิ่นตีนจกที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อๆกันมาของกลุ่มไทยวน นิยมใช้สีธรรมชาติสำหรับย้อมเส้นด้าย การจกลวดลายค่อนข้างแน่น ด้ายเส้นยืนสีดำเป็นพื้นที่สำหรับลวดลายจก ส่วนเส้นยืนสีแดงจะใช้เป็นพื้นที่สำหรับเล็บของตีนจก จะไม่มีลวดลายจก แต่จะเป็นการทอลายเส้นเล็กๆสีขาวดำ (หางสะเปา) และวิธีการทอผ้าซิ่นตีนจกแบบดั้งเดิมของชาวแม่แจ่มคือทอโดยให้ด้านหลังของจกอยู่ด้านบน

ส่วนผ้าซิ่นตีนจกที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นการสืบทอดกันของคนไทยพวน ในสมัยโบราณนิยมทอด้วยฟีมที่มีหน้าแคบ ผ้าซิ่นจึงสั้น จำเป็นต้องต่อหัว ต่อตีน จึงจะนุ่งได้ ลายตีนจกที่เป็นที่นิยมทอมีทั้งหมด ๙ ลาย ได้แก่ ลายเครือน้อย ลายเครือกลาง ลายเครืใหญ่ ลายมนสิบหแ ลานสิบสองหน่วยตัด ลายน้ำอ่าง ลายท้องสอง ลายแปดขอ และลายสี่ขอ สีที่ใช้กับลายขนาดใหญ่มักเป็นสีแดงอมส้ม สีส้ม และสีน้ำตาลปนเหลือง ส่วนลายเล็กๆ อย่าง ลายโงะ ลาย จะใช้สีเหลือง สีเขียว สีชมพู และสีครามเสียส่วนใหญ่

ผ้าซิ่นตีนจกนอกจากใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะแล้ว ยังแอบแฝงข้อคิดไว้ในแม่ลายขนาดเล็กที่ปรากฏบนผ้าซิ่นตีนจกนั้นอีกด้วย เช่น ลายนกคุ้ม หมายถึงการอยู่คุ้มผัวคุ้มเมีย เกิดความเป็นสิริมงคลต่อชีวิตคู่ การครองรักการครองเรือน ลายนกหมู่ แสดงถึงความเป็นหมู่เป็นพวก ไม่ขัดแย้ง รักสามัคคี ลายนกคาบ คือการคาบดอกไม้ร่วมกัน หรือกันน้ำร่วมกัน (กินน้ำร่มเต้า ) ก็คือการให้สัจจะวาจาที่จะครองรักร่วมกับผู้ที่เป็นสามีตลอดไป ลายนกแถว หมายถึงการมีระเบียบในสังคมวงศ์ญาติ ไปกันเป็นแถวเป็นแนวทำให้สังคมเจริญรุ่งเรืองในทางเดียวกัน เป็นต้น

การท่อผ้าซิ่นตีนจกจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการที่ต้องนับเส้นด้ายแต่ละเส้น เพื่อให้เกิดลวดลายตามที่ต้องการ ทำให้การทอผ้าตีนจกใช้เวลานานกว่าจะได้ผ้าสักผืน การทอผ้าซิ่นตีนจกจึงเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมไทยที่ควรได้รับการอนุรักษ์และสืบทอด เท่ากับเป็นการรักษาชาติ รักษารากเหง้าแห่งชนชาติไทย

ข้อมูลอื่นๆของซิ่นตีนจก
ผ้าตีนจกเก้าลายไทยพวนศรีสัชนาลัย : sathorngoldtextilemuseum.com
หัตถกรรมของหมู่บ้านหาดเสี้ยว : hadsiew.com

Previous articleจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว .. สถานที่ท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้วิถีชีวิตไทย-ยวน
Next articleเที่ยวลาว 7 สถานที่ต้องห้ามพลาดแนวอนุรักษ์ ไปแบบงบประหยัด