ธงชาติไทย ความหมายและประวัติความเป็นมา

18186

ธงชาติสยาม … สู่ธงชาติไทย ธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์ มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสีหลักในธงอยู่ 3 สี คือ สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงศาสนา และสีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ โดยแถบสีน้ำเงินจะมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นๆถึง 2 เท่า แต่กว่าจะเป็นธงชาติในรูปแบบปัจจุบันก็มีการปรับเปลี่ยนในหลายสมัยเลยทีเดียวคะ

ธงชาติไทย

ประวัติ ธงชาติไทย ความเป็นมา

จากบันทึกของจดหมายเหตุต่างประเทศกล่าวไว้ว่า ประเทศไทยเริ่มใช้ธงชาติในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ผ้าสีแดงเป็นธงชักขึ้นเพื่อให้เรือฝรั่งเศลยิงสลุดคำนับตามธรรมเนียม จึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของธงชาติไทย

ต่อมาในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการเพิ่มเติมรูปต่างๆลงในธงแดง เช่น การเพิ่มรูปจักรสีขาว และการเพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักร ตามลำดับ เพื่อนำมาใช้กับเรือหลวงเท่านั้น ส่วนเรืออื่นให้ใช้ธงแดงล้วนเช่นเดิม

ธงช้างเผือกในวงจักร

ภาพจาก: แผ่นดินทอง – อธิบายเรื่องธงไทย (pantip.com)

ในรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงเปิดประเทศสยาม(ประเทศไทย) ได้ติดต่อซื้อขายกับชาวตะวันตก มีเรือสินค้าเดินทางเข้ามาค้าขายมากขึ้น มีการจัดตั้งสถานกงสุลของแต่ละประเทศขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละกงสุลจะชักธงชาติของตนขึ้นเป็นของตนเอง พระองค์ทรงมีรับสั่งว่าธงชาติสีแดงล้วนของไทยนั้นซ้ำกับประเทศอื่นและยากที่จะสังเกต จึงได้นำธงเรือหลวงมาเป็นธงชาติ แต่ให้เอารูปจักรออกเสีย จึงกลายเป็นธงชาติไทยมีช้างสีขาวอยู่กลางสีแดง ซึ่งในตอนแรกเป็นรูปช้างยืนพื้นแต่ตอนหลังปรับเป็นรูปช้างยืนปล่อย

ในรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกพระราชบัญญัติด้วยแบบอย่างธงสยามเป็นครั้งแรกระบุไว้ว่า “ธงพื้นแดงตรงกลางเป็นช้างเผือกสีขาวปล่อยหันหน้าเข้าหาเสา”

ธงช้างเผือก

ภาพจาก: แผ่นดินทอง – อธิบายเรื่องธงไทย (pantip.com)

ล่วงเลยมาจนสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แก้ไขธงชาติไทยเป็นหลายครั้ง เช่น พื้นสีแดงตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าเสา แต่ด้วยทรงเห็นความลำบากของราษฎร์ที่ต้องสั่งซื้อธงช้างจากต่างประเทศ และมักมีการชักธงช้างเผือกกลับด้าน จึงทรงเปลี่ยนเป็นธงชาติไทยแบบริ้วขาวแดงห้าริ้วในช่วงระยะหนึ่ง

ต่อมาพระองค์ทรงเห็นว่าธงชาติไทยยังไม่สง่างามพอ จึงปรับให้เป็นริ้วสีน้ำเงินตรงกลาง ซึ่งเป็นสีประจำพระชนมวารเฉพาะพระองค์ จึงเป็นสีที่ควรประดับไว้บนธงชาติไทยและเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1  กับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งสีน้ำเงินแสดงถึงความเป็นหนึ่งกันของฝ่ายพันธมิตรอีกด้วย

ดังนั้นในปี พ.ศ.2460 ทรงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติธง ออกประกาศเมื่อวันที่ 28 กันนายน พ.ศ.2460 โดยระบุลักษณะธงชาติไว้ดังนี้ “เป็นธงรูปสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 2 ส่วน ยาว 3 ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 1ใน 3 ของความกว้างของธงอยู่ตรงกลาง มีแถวสีขาวกว้าง 1 ใน 6 ของความกว้างของธงข้างละแถบ แล้วมีแถบแดงกว้างเท่ากับแถบสีขาวประกอบข้างนอกอีกข้างละแถบ” และทรงพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์” ในรัชสมัยต่อๆมายังมีแนวความคิดที่จะปรับเปลี่ยนธงชาติแต่ก็ไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดจึงยังคงใช้ธงไตรรงค์นี้ตลอดมา แต่อาจจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติธงบ้างในบ้างสมัย และสิ้นสุดการแก้ไขในปี พ.ศ.2479 รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยไม่มีข้อความใดๆเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติอีกเลย

ทุกครั้งที่เราได้ยินเพลงชาติไทย ยืนตรงเคารพธงชาติ ทุกครั้งที่เราเห็นธงชาติไทยโบกสะบัด ช่างเป็นภาพที่ภูมิใจอันเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นเอกราชของประเทศไทย มีสิ่งยึดเหนี่ยวที่เหมือนกัน คือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่พวกเราชาวไทยต้องหวงแหนและรักษาไว้ตราบชั่วชีวิต

ข้อมูลอ้างอิง
ธงชาติไทย 3 สี 5แถบ ประเทศไทย 5 สี 5 กลุ่ม : oknation.net
ธงชาติไทยปัจจุบันเรียกว่าธงไตรรงค์ : modersmal.skolverket.se
ประวัติความเป็นมาและรูปแบบธงชาติไทย : t-h-a-i-l-a-n-d.org
ธงชาติไทย : kknontat.com

Previous articleประวัติ พระเจนดุริยางค์ ผู้วางรากฐานดุริยางคศิลป์ของไทย
Next articleประกันชีวิต ทำไมเราต้องทำประกัน ทำไปเพื่ออะไร?