มะเร็งต่อมลูกหมาก ภัยร้ายของลูกผู้ชาย

3063

สำหรับโรคมะเร็งชนิดนี้แค่เอ่ยชื่อโรคเราก็คงพอจะเดากันได้นะคะว่าเป็นโรคที่เกิดกับเพศชายเท่านั้น “มะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมาก

ต่อมลูกหมากเป็นหนึ่งในอวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย ลักษณะคล้ายลูกเกาลัด มีหน้าที่คอยสร้างและเก็บน้ำเลี้ยงอสุจิ ซึ่งจะหลั่งออกมาเป็นน้ำอสุจิ (น้ำกาม) นั้นเอง ต่อมลูกหมากจะโอบอยู่รอบท่อปัสสาวะดั้งนั้นเมื่อต่อมลูกหมากมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นส่งผลให้ปัสสาวะลำบากหรือต้องรอนานกว่าน้ำปัสสาวะจะไหลออกมา และต่อมลูกหมากจะโตสัมพันธ์กับอายุของคนเรานะคะ

อาการของโรค มะเร็งต่อมลูกหมาก

สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะแสดงอาการแต่เมื่อเซลล์มะเร็งเจริญก็มักจะลุกลามและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะไปกดเบียดอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง และทำให้เกิดอาการต่างๆเช่น ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะในเวลากลางคืน ปัสสาวะลำบากและต้องเบ่งเป็นเวลานานๆ ปัสสาวะไม่พุ่ง แสบขัด ไม่ออก มีเลือดปน และมีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะเพศไม่แข็งตัว มีอาการปวดเมื่อหลั่งถึงจุดสุดยอด เป็นต้น เนื่องจากอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการจำเพาะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเท่านั้น วิธีที่ดีที่สุดเมื่อเกิดอาการควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคว่าเป็นมะเร็ง หรือโรคอื่นๆ เช่น โรคต่อมลูกหมากโต อย่าวิตกกังวลเกินกว่าเหตุคะ

หากแพทย์พบความผิดปกติจากการตรวจเลือดวัดระดับพีเอสเอ (PSA) อาจทำการส่งกล้องทางท่อปัสสาวะ(Cystoscopy)เพื่อดูลักษณะท่อปัสสาวะและเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะ หรือตรวจอัตราซาวด์เพื่อดูคลื่นเสียงสะท้อนเพิ่มเติม หลังจากนี้แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจโดยการใช้เข็มเจาะตัดชิ้นเนื้อเข้าทางผิวหนังแล้วนำชิ้นเนื้อไปตรวจหาเซลล์มะเร็งหาระดับความผิดปกติของเซลล์เพื่อทำการวางแผนรักษาต่อไป

มะเร็งชนิดต่างๆจะถูกจัดระยะว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งมากน้อยเพียงใด มะเร็งต่อมลูกหมากเองก็จัดระยะของโรคได้ดังนี้ ระยะ T1 เป็นระยะที่ไม่สามารถตรวจได้ทางทวารหนักหรือภาพเอกซเรย์และมีผลชิ้นเนื้อTUR-P น้อยกว่าหรือมากกว่า 5%  ระยะT2 เป็นระยะที่มะเร็งยังไม่ลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก ระยะT3 เป็นระยะที่มะเร็งลามออกนอกเยื่อหุ้มต่อมลูกหมากหรือต่อมสร้างน้ำอสุจิ และระยะสุดท้ายระยะT4 เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ลำไส้ใหญ่

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งและความเหมาะสมกับภาวะผู้ป่วยเอง บางรายรักษาโดยกการเฝ้าระวัง เจาะเลือดหรือตัดชิ้นเนื้อออกมาดูเป็นครั้งๆ บางรายอาจต้องทำการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากและเลาะต่อมน้ำเหลืองออก ซึ่งวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงต่อการสูญเสียสมรรถภาพทางเพศ ท่อปัสสาวะตีบ หรือปัสสาวะเล็ด ร่วมกับการฉายรังสีหรือฝังแร่ การรักษาด้วยฮอร์โมนเนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายเมื่อทำการลดฮอร์โมนทางเพศชายในร่างกายลง พบว่าสามารถทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายและสามารถระงับการเจริญของเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่ได้ อาจจะทำโดยการผ่าตัดลูกอัณฑะออกหรือให้ทานยายับยั้งฮอร์โมนเพศชาย

การหลั่งอสุจิ 21 ครั้งต่อเดือน ลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดทำการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่มีการหลั่งอสุจิบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ การช่วยตัวเอง หรือการฝันเปียกก็ตาม งานวิจัยนี้ได้ข้อสรุปว่า ผู้ชายที่มีการหลั่งอสุจิอย่างน้อย 21 ครั้ง/เดือน พบว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าผู้ที่หลั่งเพียงแค่เดือนละ 4-7 ครั้ง รายงานนี้เปิดเผยโดย เว็บไซต์นิตยสาร GQ (ที่มา news.voicetv.co.th)

มะเร็งหลายชนิดๆมักไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดได้อย่างชัดเจน แต่จะทราบปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นปัจจัยเสี่ยงคืออายุที่มากขึ้น มักพบว่าผู้ป่วยในช่วยอายุประมาณ 70 ปี ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก อาหารและโภชนาการคือการรับประทานอาหารที่มีไขมันสัตว์สูงเป็นการเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งชนิดนี้ในขณะที่ผู้ที่รับประทานผักและผลไม้จะมีความเสี่ยงต่ำ

การดูแลตนเองด้วยการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปเป็นประจำทุกปี ถึงแม้จะไม่มีอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะใดๆก็ตาม เป็นการป้องกันมะเร็งที่ดีที่สุด เพราะมะเร็งต่อมลูกหมากมักลุกลามอย่างรวดเร็วและไม่ค่อยแสดงอาการใดๆออกมาในระยะเริ่มต้นของโรค และหากเราพบเสียแต่เนิ่นๆก็จะทำให้การรักษาได้ผลดีและหายได้คะ

ข้อมูลอ้างอิง
คู่มือประชาชนมะเร็งต่อมลูกหมาก : cccthai.org
มะเร็งต่อมลูกหมากอย่ารอจนสายเกินไป : nonthavej.co.th
มะเร็ง ต่อมลูกหมาก : medinfo2.psu.ac.th
สุขภาพต่อมลูกหมาก : bumrungrad.com

Previous articleเรโทรกับวินเทจ สองสไตล์ต่างกันตรงไหน
Next articleวิธีรักษาสิวอุดตัน เปลี่ยนหน้าสิวเป็นหน้าใส