โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

54552

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection : UTI)สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยโดยทั่วไปจะพบในช่วงเจริญพันธุ์ คือ อายุ 17 ถึง 50 ปีและพบได้บ่อยในสตรีมากกว่าผู้ชายเนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นประมาณ 45 ซม. และมีลักษณะแบบเปิดบริเวณอวัยวะเพศทำให้มีโอกาสติดเชื้อตอนมีเพศสัมพันธ์เข้าสู่กระเพาะปัสสาวะจนเกิดการอักเสบได้ง่ายกว่า

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะทำให้ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะครั้งละน้อยๆ ปวดแสบมากเมื่อจะสุด อาจมีเลือด หรือหนองปนในปัสสาวะ รวมถึงปัสสาวะมีสีขุ่น สีคล้ำผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น ผู้ป่วยอาจจะมีไข้ เจ็บบริเวณเอว ปวดท้องน้อย หรือคลื่นไส้อาเจียนร่วม อาการของโรคมีทั้งแบบเฉียบพลันซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ และแบบเรื้อรังซึ่งจะมีอาการเป็นๆหาย และรุนแรงน้อยกว่าเฉียบพลัน

สาเหตุของโรคเกิดจากกระเพาะปัสสาวะติดเชื้อแบคทีเรียจากทวารหนักและช่องคลอด โดยเชื้อโรคจะเข้าผ่านทางปากท่อปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียมีด้วยกันหลากหลายชนิดแต่โดย 95 เปอร์เซ็นต์มักมาจากเชื้อโรคอีโคไล (E. coli)

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดชนิดคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้มากอย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว เพื่อฆ่าเชื้อโรคและขับออกทางปัสสาวะโดยอาการจะดีขึ้นภายใน 5 – 7 วัน หลังจากรับยาแล้ว

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นั้นมีหลายสาเหตุ เช่น

  • ถ้าเกิดจากพฤติกรรมที่ผิดปกติ คือ การกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ ส่งผลให้โรคมีการเจริญเติบโตมากขึ้นและมีแรงดันในท่อในกระเพาะปัสสาวะทำให้เยื่อบุผิวยึดตัวจนเชื้อโรคฝังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ และเกิดการอักเสบ
  • การชำระล้างอวัยวะเพศหญิงไม่ถูกวิธี หลังจากล้างอวัยะเพศแล้วควรใช้กระดาษชำระทำความสะอาดโดยการเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะได้
  • การสวนล้างช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ จะทำให้เซลล์แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคถูกกำจัดออกไป ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
  • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ช่วงวัยหมดประจำเดือนฮอร์โมนลดลงทำให้ความชุ่มชื้นบริเวณเนื้อเยื่อบุช่องคลอดและเยื่อบุท่อปัสสาวะ ที่ทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากควบคุมไม่ดีจะมีโอกาสติดเชื้อง่ายๆเนื่องจากภูมิต้านทานโรคต่ำ
  • ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน
  • การใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้เป็นเวลานานๆ

สำหรับการการป้องกันและการดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะ วิธีง่ายๆคือการไม่กลั้นปัสสาวะ ถ้ารู้สึกว่าปวดปัสสาวะต้องบังคับตัวเองให้ไปเข้าห้องน้ำทันที ส่วนในผู้สูงวัยไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานน้ำผลไม่จำนวนมากก่อนนอน เพราะมักจะนอนหลับลึก ทำให้ไม่รู้สึกถึงการปวดปัสสาวะได้คะ และควรรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศ ทำความสะอาด ช่องคลอดด้วยสบู่ธรรมดาก็เพียงพอด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาด และควรปัสสาวะทิ้งและทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ควรเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนออกไปข้างนอก ไม่ควรใส่ชุดชั้นใน เสื้อผ้า ที่รัดรูปจนเกินไป เพื่อให้เกิดความอับชื้น อันเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้นสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำๆอีกกี่ครั้งก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเอง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงให้เกิดโรคคะ รักตัวเองให้มากๆ หมั่นดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ

ข้อมูลอ้างอิง

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบทำไมถึงเป็นรักษาอย่างไรดี: medium.com
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ : bumrungrad.com
10 พฤติกรรมป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบ: msn.com

Previous articleโรคมือเท้าปาก โรคที่ควรพึงระวังสำหรับลูกน้อย
Next articleโรคถุงลมโป่งพอง เป็นเพราะสูบบุหรี่อย่างเดียวใช่หรือไม่