โรคถุงลมโป่งพอง เป็นเพราะสูบบุหรี่อย่างเดียวใช่หรือไม่

463

ปอด จะประกอบด้วย ถุงลมขนาดเล็กๆจำนวนนับล้านที่มีขนาดเล็กกว่าปลายเข็ม ผนังถุงลมจะบางมีเส้นเลือดฝอยบุอยู่ตามผนัง เวลาเราหายใจเข้าปอดออกซิเจนจะเข้าสู่ถุงลมเหล่านี้แล้วซึมผ่านผนังถุงลมเข้าสู่เส้นเลือดฝอยเพื่อไปหล่อเลี้ยงร่างกายขณะเดียวกันคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นของเสียจะถูกขับออกจากเส้นเลือดฝอยเข้าสู่ถุงลมและขับออกจากร่างกายโดยการหายใจออกนั่นเอง

โรคถุงลมโป่งพอง

โรคถุงลมโป่งพอง คือ ภาวะของถุงลมภายในปอดขยายตัวมากขึ้นกว่าปกติทำให้พื้นที่ปอดลดน้อยลง ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อปอดส่วนหลอดลมฝอยถูกทำลายสูญเสียความยืดหยุ่นและมีถุงลมถูกทำลายเสียหาย จึงเป็นเหตุให้หลอดเลือดฝอยในส่วนดังกล่าวและถุงลมเกิดจากโป่งพองจนกลายเป็นถุงอากาศขนาดใหญ่เกิดการกักขังของอากาศในหลอดของหลอดเลือดฝอยและถุงลมที่เสียหายเหล่านี้ ส่งผลให้หายใจลำบากทำให้ส่วนต่างๆของร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่ไม่เพียงพอ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองมีด้วยกัน 2  ประการคือการได้รับสารกระตุ้นและการหายใจเอามลพิษเข้าสู่ร่างกาย การรับสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง เช่น การสูบบุหรี่ การหายใจเอามลพิษเข้าสู่ร่างกายคือการสูดดมมลพิษจากการเผาไหม้ทั้งในและนอกครัวเรือน เช่น การสูดดมควันรถยนต์ การสูดดมควันที่เกิดจากการทำอาหาร แต่ส่วนใหญ่มักพบว่าผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองกว่า 80%  เกิดจากการสูบบุหรี่ แต่ปัจจุบันผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองที่ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันคะ

เราจะพบว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีอัตราการป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในชนบท เนื่องจากมลภาวะมลพิษทางอากาศ จากฝุ่นควันควันเผาไหม้ ไอเสียจากรถยนต์ รวมถึงละอองสารเคมีจากโรงงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานบางประเภทในอุตสาหกรรมสิ่งทอจากฝ้าย งานอุตสาหกรรมพลาสติก งานในเหมืองถ่านหิน และงานเชื่อมโลหะ เป็นต้น หากหายใจเอาสารเหล่านี้เข้าไปในปริมาณมากๆและติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงลมโป่งพองมากขึ้นและความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นไปอีกหากมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย

นอกจากนี้การเกิดโรคถุงลมโป่งพองอาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรม เป็นภาวะพร่องของสารต้านทริปซิน ซึ่งเป็นเอนไซม์ป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจากสารต่างๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้ถุงลมปอดถูกสารพิษในบางรายหากขาดเอนไซม์ตัวนี้มากๆจะส่งผลให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองได้แม้อายุยังน้อย

ในระยะแรกจะมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ เป็นหวัดง่ายแต่จะหายช้า หลอดลมอักเสบ มีอาการเหนื่อยหอบมากขึ้นได้เรื่อยๆ หน้าอกบวมป่อง เนื่องจากมีปริมาณของปอดที่ขยายใหญ่ขึ้นจากอากาศที่ค้างอยู่ในถุงลม การหายใจเริ่มมีเสียงหวีดในอก ในกรณีที่มีอาการหนักแม้ทำอะไรนิดหน่อยก็จะเหนื่อยเร็วขึ้นและสุดท้ายอยู่เฉยๆก็เหนื่อย ไม่สามารถทำอะไรได้ต้องให้ออกซิเจนในการช่วยหายใจ

ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วควรเร่งฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของร่างกายของผู้ป่วย เน้นการออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อการหายใจแข็งแรงขึ้น การฝึกหายใจเนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคผงถุงลมโป่งพองจะมีอาการหอบเหนื่อยมากๆ การฝึกหายใจจะช่วยลดความหอบเหนื่อยได้

โรคถุงลมโป่งพอง ไม่ใช่โรคติดต่อแต่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อปอดมีสภาพผิดปกติแล้วไม่สามารถทำให้ปอดกลับมาเป็นปกติได้อีก ด้วยเหตุนี้หากตรวจพบโรคในระยะเวลาแรกเริ่มได้จะดีมาก และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองโดยเฉพาะการสูบบุหรี่และมลภาวะต่างๆคะ

ข้อมูลอ้างอิง

โรคถุงลมโป่งพองแค่ทำอาหารก็เป็นได้โรคร้ายที่ต้องระวัง: med.mahidol.ac.th
โรคถุงลมโป่งพอง: bangkokhealth.com
ถุงลมโป่งพองอาการสาเหตุการรักษา: medthai.com

Previous articleโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
Next articleยาถ่ายพยาธิ ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีอะไรบ้าง