พืชเศรษฐกิจ และอนาคตทางการเกษตรของไทย

25734

เมื่อพูดถึง พืชเศรษฐกิจ คงมีคำนิยามแบบง่ายๆคือ ระบบการเกษตรที่สามารถปลูกพืชในปริมาณที่เพียงพอ ต่อการบริโภคและยังเหลือนำไปขายเพื่อการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับครอบครัว ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ดังนั้นการปลูกพืชเศรษฐกิจจึงเหมาะสำหรับคนไทยอย่างมาก และในปัจจุบันนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในด้านความรู้และเงินทุน ทำให้การปลูกพืชเศรษฐกิจเริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น

พืชเศรษฐกิจ
การปลูกพืชเศรษฐกิจ นอกจากจะได้ผลผลิตเพื่อบริโภคและการสร้างรายได้ของครอบครัว แล้วก็ยังมีความสำคัญในระดับภูมิภาครวมถึงระดับประเทศ ดังนี้

• สามารถทำเป็นอาชีพหลักของคนไทยได้ ลดอัตราการว่างงานลง

• เป็นแหล่งวัตถุดิบให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปแปรรูปต่อ

• ช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจ และการบริการด้านการเกษตร

• ผลผลิตของการเกษตรจะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ

• ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยมีหลายอย่าง แต่ที่ประเทศเราส่งออกและมีรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำจะได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ยางพารา เป็นต้น

• ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ในปีหนึ่งประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวได้เป็นจำนวนมาก คิดเป็นรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี ประเทศที่เราส่งออกข้าวมากที่สุดก็ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย แคนนาดา อิหร่าน อิรัก ฯลฯ โดยข้าวที่ส่งออกมีทั้ง ข้าวหอมมะลิ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว รวมถึงข้าวเปลือกด้วย

• มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกง่าย ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และเป็นอาหารที่สำคัญของประเทศในเขตร้อน เช่น ประเทศในทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ รวมถึงทวีปเอเชียด้วย การส่งออกมันสำปะหลังจึงสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญไม่แพ้ข้าว

• ข้าวโพด โดยเฉพาะข้าวโพดหวานเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง ในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 ปี การส่งออกข้าวโพดหวานของไทยมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถแข่งขันในด้านคุณภาพและราคากับต่างประเทศได้ จนขณะนี้ไทยเป็นอันดับที่ 3 ของโลกในการส่งออกข้าวโพดหวาน โดยอันดับ1 คือ ฮังการี และอันดับ 2 คือ สหรัฐฯ

• ยางพารา จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ประเทศไทยส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศจีนมีความต้องการใช้ยางพาราสูงถึง 970,000 ตันต่อปี รองลงมาก็เป็นสหรัฐอเมริกา การส่งออกยางพาราจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1.ส่งออกยางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยาง

2.ส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ท่อยาง ถุงยางอนามัย ฯลฯ

• อ้อย ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกน้ำตาลที่ทำมาจากอ้อย ที่จัดว่าเป็นรายใหญ่ของอาเซียน ซึ่งไทยสามารถผลิตได้มากกว่าครึ่ง และมีการส่งออกน้ำตาลได้มากถึงร้อยละ 85 ของประเทศในอาเซียนทั้งหมด

พืชเศรษฐกิจระยะสั้น

พืชเศรษฐกิจระยะสั้น คือ การปลูกพืชที่ใช้ในการบริโภคและนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ แต่พืชที่ปลูกนั้นจะมีอายุการเก็บผลผลิตที่สั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพืชล้มลุก และมีขั้นตอนการปลูกที่ไม่ยุ่งยาก เช่น พืชตระกูลถั่ว พืชผักสวนครัว ฯลฯ

พืชเศรษฐกิจกับอนาคตของประเทศไทย

ในอนาคตประเทศไทยจะทิศทางในการทำธุรกิจการเกษตรอย่างไร? เรื่องนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้ความคิดเห็นว่า “นับตั้งแต่ทำธุรกิจมา 46 ปี พบว่าวันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการเกษตร ที่สภาพแวดล้อมทุกอย่างได้เอื้ออำนวยและผลักดันให้การเกษตรของไทยมีอัตราที่เติบโตมากขึ้น”

เนื่องจากในปัจจุบัน สถานการณ์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และกำลังนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรของไทยและของโลก เนื่องมาจากปัญหาวิกฤตความสมดุลของพลังงานและอาหาร ซึ่งมีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ

1. การเติบโตของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่น จีน และอินเดีย ส่งผลให้มีการใช้พลังงานของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้เกิดแรงผลักดันไปหาพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น ดังนั้นความต้องการใช้พืชพลังงานในโลกจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย

2. ในปี 39 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2593) ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าการเกษตรและอาหารเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณผลผลิตพืชอาหารลดลง เนื่องจากมีข้อจำกัดในพื้นที่เพาะปลูก และเทคโนโลยีการผลิตที่มีอยู่ ประกอบกับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งและอุทกภัย สร้างความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรของหลายประเทศ

จากสาเหตุหลักสองประการนี้ จึงเชื่อว่าธุรกิจการเกษตรของไทยในอนาคตจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อรองรับกับการผลิตอาหารให้เพียงพอกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น

ข้อมูลพืชเศรษฐกิจ
สินค้าส่งออกทางการเกษตรของไทย :farmthailand.com
อนาคตธุรกิจการเกษตรของโลกจะเป็นอย่างไร? : cpthailand.com

Previous articleโรคไข้เลือดออก ถึงตายได้ถ้ารักษาไม่ทัน
Next articleแก่นตะวัน สมุนไพรลดไขมัน คุมน้ำหนัก