แก่นตะวัน หรือ Jerusalem artichoke เป็นพืชในตระกูลทานตะวัน มีแหล่งกำเนิดในแถบอเมริกาเหนือ เป็นพืชที่มีความแข็งแรงทนทาน และสามารถปรับตัวได้ดีในเขตอากาศร้อน ชาวอินเดียนแดงนิยมนำมาปลูกไว้รับประทานเพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร ต่อมาจึงได้แพร่หลายเข้าสู่ประเทศอเมริกาและยุโรป ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 รศ.ดร.สนั่น จอกลอย ภาคคณะวิชาเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำแก่นตะวันเข้ามาทดลองปลูกจำนวน 24 สายพันธุ์ และทำการพัฒนาวิจัยมาเรื่อยๆ จนได้พบว่า สายพันธุ์ KKU Ac 008 ให้ผลผลิตของหัวสดได้ถึงไร่ละ 2-3 ตัน
แก่นตะวันเป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบดินร่วนปนทราย สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าฝนจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุด หัวมีลักษณะเป็นเง้าคล้ายกับหัวของขิงหรือข่า มีหลายสีเช่น สีม่วง สีขาว สีเหลือง สีแดง ฯลฯ แต่โดยทั่วไปเปลือกของแก่นตะวันจะมีสีน้ำตาลอ่อน เนื้อข้างในเป็นสีขาว ลักษณะของเนื้อจะกรอบคล้ายกับแห้วดิบ หัวของแก่นตะวันจะเป็นแหล่งสะสมอาหารหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจึงนิยมนำมารับประทาน
สรรพคุณของแก่นตะวัน
แก่นตะวันจัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เนื่องจากในหัวแก่นตะวันจะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินบีรวม วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส ฯลฯ แก่นตะวันสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง แต่การเลือกรับประทานแก่นตะวันแบบสดๆ จะได้รับคุณค่าของสารอาหารมากกว่า สำหรับสรรพคุณของแก่นตะวันก็มีมากมาย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
• ลดไขมันในเส้นเลือด
• ลดความดันโลหิตสูง
• ช่วยรักษาหลอดเลือดและป้องกันโรคหัวใจ
• ช่วยในการควบคุมน้ำหนักจะลดความอ้วน
• ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน
• ชุดป้องกันสารพิษจากโลหะหนัก
• ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
• ช่วยกระตุ้นการหลั่งของถุงน้ำดี
• ช่วยป้องกันภูมิแพ้อาหาร
• ช่วยปรับสมดุลของระบบขับถ่าย
• ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง
คุณค่าทางโภชนาการของแก่นตะวัน
ในแก่นตะวัน น้ำหนัก 100 กรัม จะให้พลังงานค่อนข้างต่ำแค่ 73 กิโลแคลอรี่ แต่มีส่วนประกอบของวิตามินและแร่ธาตุมากมาย ดังนี้
• เส้นใย ประมาณ 1.6 กรัม
• คาร์โบไฮเดรต ประมาณ 17.44 กรัม
• น้ำตาล ประมาณ 9.6 กรัม
• โปรตีน ประมาณ 2 กรัม
• ไขมัน ประมาณ 0.01 กรัม
• วิตามินบีรวม ประมาณ 2.034 มิลลิกรัม
• วิตามินซี ประมาณ 4 มิลลิกรัม
• ธาตุเหล็ก ประมาณ 3.4 มิลลิกรัม
• แคลเซียม ประมาณ 14 มิลลิกรัม
• แมกนีเซียม ประมาณ 17 มิลลิกรัม
• ฟอสฟอรัส ประมาณ 78 มิลลิกรัม
• โพแทสเซียม ประมาณ 429 มิลลิกรัม
ข้อควรระวังในการรับประทานแก่นตะวัน
การรับประทานแก่นตะวันในปริมาณที่มากจนเกินไป อาจทำให้มีอาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเสีย หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ เพราะหัวแก่นตะวันจะมีเส้นใยอาหารสูง เมื่อรับประทานเข้าไปเส้นใยจะไปพองตัวในกระเพราะอาหาร จึงควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม
ประโยชน์อื่นๆของแก่นตะวัน
แก่นตะวันนอกจากจะรับประทานสดและนำมาประกอบอาหารอื่นๆแล้ว ยังมีการนำแก่นตะวันมาใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ดังนี้
• นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ ช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์เลี้ยง และยังช่วยลดจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ลดกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์
• แก่นตะวันนำมาแปรรูปเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสุราและเอทานอลได้ ในประเทศเยอรมันมีการนำเอาแก่นตะวันมาผลิตสุราที่มีชื่อว่า Topi หรือ Rossler
• มีการนำเอาแก่นตะวันมาใช้ในการสกัดน้ำตาลอินนูลิน ซึ่งเป็นน้ำตาลฟรุคโตสที่เข้มข้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร
• แก่นตะวันสามารถนำมาผลิตเอทานอลบริสุทธ์ ที่ใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินในการผลิตแก๊สโซฮอล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ด้วย
ในปัจจุบัน…แก่นตะวันจัดเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยทีได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นในด้านการบำรุงร่างกาย และเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง จึงมีการนำเอาแก่นตะวันมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆออกวางจำหน่ายในท้องตลาด เช่น แก่นตะวันอบแห้ง ชาแก่นตะวัน แก่นตะวันแคปซูล แก่นตะวันบดผง สบู่แก่นตะวัน หรือเครื่องดื่มผงแก่นตะวัน ฯลฯ ซึ่งในอนาคตอาจมีการนำเอาแก่นตะวันมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่หลากหลายมากกว่านี้
ข้อมูลแก่นตะวันอื่นๆ
แก่นตะวัน สรรพคุณและประโยชน์ : medthai.com
สรรพคุณสมุนไพรแก่นตะวัน : bookmuey.com