โรคไข้เลือดออก ถึงตายได้ถ้ารักษาไม่ทัน

39962

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มียุงค่อนข้างเยอะ ซึ่งเจ้ายุงตัวเล็กๆนี่แหละที่นำ “ โรคไข้เลือดออก ” มาสู่คนและมีการระบาดของโรคนี้ค่อนข้างสูง โดยจะมีการระบาดมากที่สุดในช่วงหน้าฝน บ้านใครมียุงเยอะก็ควรรีบหาทางกำจัดให้หมดอย่างสิ้นซาก ขืนปล่อยไว้อาจนำโรคภัยร้ายแรงมาสู่ตัวเองและครอบครัวได้ เรามาดูกันว่าโรคไข้เลือดออกจะมีความร้ายกาจขนาดไหน

โรคไข้เลือดออก

การติดต่อของโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งซึ่งมีสาเหตุมาจาก เชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยมียุงลายที่มีชื่อว่า Aedes aegypti เป็นพาหะนำโรค ยุงชนิดนี้จะออกหากินในเวลากลางวัน เมื่อผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกถูกยุงลายกัด มันจะดูดเลือดที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าไปและเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสภายในตัวของมัน และไปกัดคนใหม่พร้อมกับปล่อยเชื้อให้กับคนที่ถูกกัดต่อไปเรื่อยๆ (เหมือนซอมบี้ในหนังเลย) จากสถิติในปี พ.ศ. 2554 ของสำนักโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในประชากรทุก 100,000 คน จะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้ถึง 107.02 คน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 0.1 คน โดยโรคไข้เลือดออกจะพบมากที่สุด ในคนที่มีอายุประมาณ 5 – 24 ปี ส่วนช่วงอายุ 0 – 4 ปี และช่วงอายุ 25 – 65 ปี จะพบน้อยที่สุด

อาการของโรคไข้เลือดออก

อาการของโรคไข้เลือดในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายๆกับไข้หวัด โดยมีอาการไข้ หน้าแดง อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก และอาจอาจมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกผิดปกติ เช่น มีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ฯลฯ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจพบอาการซึม มือเท้าเย็น เหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา มีอาการช็อก หากมีอาการดังกล่าวควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

โรคไข้เลือดออก สามารถแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 4 ขั้น คือ

•ขั้นที่หนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ และมีจุดแดงๆตามผิวหนัง โดยไม่มีอาการเลือดออกจากที่อื่นๆ

•ขั้นที่สอง ผู้ป่วยจะมีอาการเพิ่มขึ้นจากขั้นที่หนึ่ง คือ มีเลือดออกเป็นจ้ำๆจากใต้ผิวหนัง หรือจากที่อื่นๆ อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด แต่ยังไม่มีอาการช็อก ความดันและหัวใจยังเต้นปกติ

•ขั้นที่สาม ผู้ป่วยจะมีการอาการกระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาแต่เร็ว และอาจมีภาวะช็อกตามมา

•ขั้นที่สี่ ผู้ป่วยจะมีภาวะช็อกรุนแรง ความดันตกจนวัดไม่ได้ ชีพจรเบาและเร็วจนวัดไม่ได้ มีเลือดออกมากจากการอาเจียนหรือถ่ายอุจจาระ

แนวทางการรักษาโรคไข้เลือดออก

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาที่จะรักษาโรคไข้เลือดออกได้โดยตรง หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงก็จะหายได้เอง ส่วนแนวทางการรักษาโรคนี้จะเป็นการรักษาตามอาการเป็นสำคัญ คือ

1.ให้ยาลดไข้ เป็นยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ขนาด 500 มิลลิกรัม สำหรับผู้ใหญ่ทานวันละ 1 – 2 เม็ด ทุก 4 – 6 ชั่วโมง และใน 1 วันไม่ควรทานเกิน 8 เม็ด ส่วนเด็กใช้ยาพาราเซตามอลชนิดน้ำ 10 – 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทานทุก 4 – 6 ชั่วโมง และใน 1 วันไม่ควรทานเกิน 5 ครั้ง หากไม่มีไข้ก็ไม่ต้องกินยา

2.ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะช็อก แพทย์อาจพิจารณาให้สารน้ำตามความรุนแรงของอาการ โดยให้ดื่มสารละลายเกลือแร่โออาร์เอส (Oral rehydration salt) หรืออาจให้น้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำ และในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกมากผิดปกติอาจต้องให้เลือดเพิ่มเติม

การป้องกันโรคไข้เลือดออก

ถึงแม้ว่าทางการแพทย์จะยังไม่มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก แต่เราก็สามารถป้องกันโรคนี้ได้ โดยการควบคุมการเกิดของยุงลาย และกำจัดยุงลายตามแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆได้ ดังนี้

1.หาฝาปิดภาชนะที่ใช้เก็บน้ำ เช่น โอ่ง ตุ่ม ถังน้ำ เพื่อป้องกันยุงลายไปวางไข่

2.เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้บ่อยๆ ทุกสัปดาห์

3.ตามอ่างบัว ควรเลี้ยงปลาเอาไว้เพื่อกินลูกน้ำ

4.ใส่เกลือตามแหล่งที่มีน้ำขังภายในบ้าน เช่น จานรองขาตู้กับข้าว ฯลฯ โดยใส่เกลือประมาณ 2 ช้อนชาต่อน้ำ 250 มิลลิลิตร

5.นอนในห้องที่มีมุ้งลวด หรือนอนกางมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด

6.ใช้ยากันยุงชนิดที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ยาทากันยุงน้ำมันตะไคร้หอม หรือยาจุดกันยุงตะไคร้ ฯลฯ หลีกเลี่ยงการใช้สเปร์ฉีดกันยุงที่เป็นสารเคมี

7.ใส่ทรายอะเบท (Abate) ชนิด 1% ในอัตราส่วน 10 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร ลงในภาชนะเก็บน้ำทุกชนิด

8.หากในบริเวณชุมชนมียุงเยอะ ควรแจ้งสาธารณสุขให้มาฉีดพ่นยาฆ่ายุง

ข้อมูลโรคไข้เลือดออก
อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคไข้เลือดออก : medthai.com
โรคไข้เลือดออก คืออะไร : pharmacy.mahidol.ac.th

Previous article10 ทุนเรียนต่อต่างประเทศ แบบฟรีๆ!!!
Next articleพืชเศรษฐกิจ และอนาคตทางการเกษตรของไทย