โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร วิธีสังเกตุอาการและการรักษาเบื้องต้น

43080

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่มักจะระบาดในช่วงฤดูหนาว สามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคอีสุกอีใสมักจะหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางคนอาจเป็นอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อที่แผลขึ้นได้ เช่น ตับอักเสบ ปอดอักเสบ หรือติดเชื้อในสมอง ฯลฯ หากคนที่เป็นโรคอีสุกอีใสแล้วมีอาการต่างๆตามมา เช่น หายใจเหนื่อยหอบ มีอาการไอ เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ หรือตาเหลือง ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา เพราะหากมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และโรคอีสุกอีใสนี้สามารถติดต่อได้โดยการหายใจ การไอหรือจาม การสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ดังนั้นคนที่อยู่ใกล้ชิดจึงต้องระมัดระวังตัวเองไว้ด้วย

โรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส เกิดจากอะไร

สำหรับต้นเหตุของโรคอีสุกอีใส จะเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Varicella virus ไวรัสชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดงูสวัด ดังนั้นคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ก็อาจเป็นงูสวัดตามมาได้

การติดต่อของโรคอีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใส สามารถติดต่อได้ทางอากาศ โดยการหายใจเข้าเอาเชื้อไวรัสเข้าไป หรือการสัมผัสกับคนป่วยโดยตรง กระทั่งการสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้ของคนป่วย เช่น จาน ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน ฯลฯ เมื่อได้รับเชื้อไวรัสจะมีระยะฟักตัวประมาณ 10-20 วัน จึงจะแสดงอาการ

โรคอีสุกอีใสมีอาการยังไง?

คนที่เป็นโรคอีสุกอีใสในระยะเริ่มแรก มักจะมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ต่ำๆ และจะมีผื่นเป็นตุ่มเม็ดใสๆเกิดขึ้น ตุ่มใสๆนี้จะกระจายไปตามร่างกาย ทั้งใบหน้าและลำตัว บางคนอาจมีตุ่มใสขึ้นในปากด้วย และจะมีอาการคันอยู่ประมาณ 2-4 วัน สำหรับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอีสุกอีใสมักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็ก เมื่อตุ่มใสๆแตกก็จะเป็นสะเก็ดแผล และพอสะเก็ดแผลแห้งหลุดลอกไปแล้ว อาการต่างๆก็จะหายไปเอง แต่เชื้ออีสุกอีใสยังคงหลบอยู่ตามปมประสาท และสามารถก่อให้เกิดงูสวัดได้ในภายหลัง

การดูแลรักษาตัวเองและป้องกันโรคอีสุกอีใส

สำหรับการดูแลคนที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส สิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรแยกคนป่วยรวมทั้งเครื่องใช้ส่วนตัวของคนป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู่คนอื่น และรักษาสุขอนามัยของคนป่วยให้ดี เพื่อลดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ดังนี้

• ถ้ามีอาการไข้ขึ้น ให้เช็ดตัว และกินยาลดไข้พาราเซตามอน (สำหรับเด็ก ไม่ควรกินยาแอสไพริน เพราะอาจแพ้ยาได้)

• ทายาแก้คันในบริเวณที่เป็นตุ่ม เช่น คารามาย หรือกินยาบรรเทาอาการคัน โดยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยา ไม่ควรซื้อยากินเอง

• ใช้น้ำเกลือเช็ดแผล จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น

• ใช้พวกสบู่ยาในการอาบน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

• ดื่มน้ำสะอาดให้มาก อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว

• ตัดเล็บให้สั้นและไม่ควรเกา เพราะถ้าเกิดเป็นแผลอาจทำให้ติดเชื้อได้
ในกรณีที่คนป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

• ตุ่มพองและเป็นหนองขึ้นมา

• มีไข้ขึ้นสูง และไข้ไม่ยอมลดหลังกินยาแก้ไข้ไปแล้ว 1-2 วัน

• มีอาการเจ็บหน้าอกมาก (เป็นอาการที่บ่งบอกว่าปอดอาจติดเชื้อ)

• เหนื่อยหอบ มีการหายใจติดขัด (เป็นอาการที่บ่งบอกว่าปอดอาจติดเชื้อ)

• มีอาการไอมากและมีเสมหะ (มักเป็นตัวบ่งชี้ว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรีย)

• ปวดศีรษะมาก หรือมีอาการชัก (เป็นอาการที่บ่งบอกถึงสมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใส

• ฉีดวัคซีนป้องกัน เป็นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด สามารถป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ถึง 90-95%

• ไม่สัมผัสใกล้ชิดกับคนป่วย รวมถึงการสัมผัสของใช้ส่วนตัวของคนป่วยด้วย

• รักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ

โรคอีสุกอีใสเป็นแล้วเป็นอีกได้ไหม?

มีหลายๆคนเชื่อว่า ถ้าเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาแล้วจะไม่กลับมาเป็นอีก นับเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะโรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสก็ยังคงฝังตัวอยู่ตามปมประสาท และพร้อมที่จะแสดงอาการของโรคได้ทุกเมื่อ หากคุณรักษาสุขภาพไม่ดี ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ก็อาจกลับมาเป็นโรคอีสุกอีใสได้อีก รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นงูสวัดด้วย

ข้อมูลของโรคอีสุกอีใสอื่นๆที่น่าสนใจ
รับมือกับโรคอีสุกอีใส : banhealthy.com
อีสุกอีใส : th.wikipedia.org
อาการโรคอีสุกอีใส : medicthai.com

Previous articleรักษาหลุมสิว ด้วยตัวเองง่ายๆ ให้หายขาดเพียงไม่กี่ขั้นตอน
Next articleสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ ไอเรื้อรัง ทานแล้วได้ผลดีลดอาการได้