กิน ยาลดความอ้วน เสี่ยงอันตรายอย่างไร? ในปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคอาหารจานด่วน ที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ ไขมัน และแป้งเป็นหลัก รวมถึงขนมเบเกอรี่ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง ซึ่งถ้ากินเป็นประจำก็เป็นต้นเหตุให้เกิดความอ้วนได้
การลดความอ้วนสามารถทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ควบคุมปริมาณอาหาร และการออกกำลังกาย แต่ในหมู่วัยรุ่น ผู้หญิงที่อยากผอม เมื่ออ้วนขึ้นมักจะหันไปหายาลดความอ้วนมากิน ซึ่งอาจเห็นผลในเวลาอันรวดเร็ว และยาลดความอ้วนบางตัวก็ยังอวดสรรคุณว่าไม่ต้องอดอาหาร ไม่ต้องออกกำลังกาย จึงทำให้การกินยาลดความอ้วนเป็นที่นิยมมากขึ้น
การใช้ ยาลดความอ้วน ที่ถูกต้องควรทำอย่างไร
การใช้ยาลดความอ้วนอย่างถูกต้อง อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีและเห็นผลได้เร็ว แต่การใช้ยาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจในกลไกการออกฤทธิ์ของยา อาการข้างเคียงของการใช้ยาลดความอ้วน ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่จะใช้รักษาเฉพาะคนที่เป็นโรคอ้วนเท่านั้น ในการรักษาแพทย์จะต้องตรวจร่างกายของผู้ที่มารับการรักษาก่อน ว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง แพ้ยาอะไรหรือไม่ เนื่องจากยาลดความอ้วน รวมทั้งยาอื่นๆที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท มักจะมีผลข้างเคียงของยาที่ส่งผลต่อโรคประจำตัวของผู้ป่วย แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาลดความอ้วนหรือไม่ โดยอ้างอิงตามข้อบ่งใช้ของยาลดความอ้วนเป็นหลัก และเมื่อเริ่มใช้ยาลดความอ้วนแล้วจะต้องมีการติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ดังนั้นเราไม่ควรไปซื้อยาลดความอ้วนหรือยาชุดมารับประทานเอง โดยไม่มีการตรวจร่างกายเพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
กลไกการทำงานของยาลดความอ้วน
ยาที่ใช้รักษาภาวะโรคอ้วน จะออกฤทธิ์ในเรื่องการกดศูนย์ควบคุมความอยากอาหาร กระบวนการดูดซึมสารอาหารของร่างกาย ยับยั้งการสลายไขมัน จึงทำให้ป้องกันการดูดซึมของไขมันกลับเข้าสู่ร่างกาย และเพิ่มกระบวนการเผาผลาญ หรือกระบวนการเมตาบอลิซึม (metabolism) ของร่างกาย จึงทำให้ลดความอ้วนได้ สำหรับยาชุดที่เป็นยาลดความอ้วน หรือยาลดน้ำหนัก นั้นมักจะประกอบไปด้วยยาที่ช่วยเร่งการลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นตัวยาที่อันตรายร้ายแรงถ้าใช้ผิดวิธี ในท้องตลาดที่ขายๆกันจะแบ่งเป็นประเภทยาลดความอ้วน ดังนี้
- ประเภทยาขับปัสสาวะ การใช้ยาขับปัสสาวะเป็นการลดน้ำหนักโดยลดปริมาณน้ำในร่างกาย โดยการขับออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นไปกับการปัสสาวะ ซึ่งมีผลกับสมองและทำให้หัวใจวายได้
- ประเภทยาธัยรอยด์ฮอร์โมน เพื่อเร่งอัตราการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้เพิ่มการทำลายโปรตีนของกล้ามเนื้อ ร่างกายจะทำงานมากขึ้น ใจสั่น หงุดหงิด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเมื่อกินไปนานๆ จะมีผลทำให้เป็นโรคธัยรอยด์เพราะมีปริมาณฮอร์โมนสูงเกินไป
- ประเภทยาลดความอยากอาหาร “เฟนเทอร์มีน” (Phentermine) เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ช่วงแรกของการกินยาลดความอ้วนที่มีส่วนผสมตัวนี้ เราจะไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวก็ลดลง แต่ถ้าปริมาณอาหารที่เรารับประทานน้อยมากเกินไประยะหนึ่งระบบเผาผลาญในร่างกายจะหยุดการทำงาน เมื่อกลับมารับประทานจะอ้วนขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะระบบการเผาผลาญทำงานน้อย ถึงแม้จะรับประทานน้อยก็ตาม ผลข้างเคียง คือ ใจสั่น คอแห้ง ท้องผูก นอนไม่หลับ
- ประเภทยาระบาย มีหลายคนเข้าใจว่าเป็นยาลดความอ้วน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงนัก เพราะยาระบายมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ อาหารที่เรากินเข้าไปจะถูกย่อยและดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนต้น เหลือแต่กากอาหารส่งมาที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งการระบายออกจะช่วยส่งผลบ้างเล็กน้อยในการไล่อุจจาระออกจากร่างกายเราเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนกับการลดพุงหรือไขมันหน้าท้อง แต่ถ้าใช้ระยะยาวจะส่งผลเสียมากกว่าเพราะเกิดอาการทนต่อยาต้องเพิ่มปริมาณในการกินยามากขึ้นเพื่อให้ขับถ่ายได้
ส่วน อาการโยโย่ เป็นอาการที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร ไม่ว่าเราจะกินยาลดความอ้วนหรือไม่กิน ก็เกิดอาการโยโย่ได้ เพราะเรากินมากบ้างน้อยบาง อดบางมื้อ หรือกินมากในบางมื้อ ร่างกายจะลดการเผาผลาญลงและเปลี่ยนเป็นการสะสมไว้แทน เราจึงควรปรับพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องให้เป็นนิสัย เพื่อป้องกันโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดอุดตัน โรคไขขอ ที่มีโรคอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญ
แนะนำข้อมูลเพิ่มเติม:
ฉันผอมเพราะยาลดความอ้วน : pantip.com
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ยา ลดความอ้วน Phentermine : pharmacy.mahidol.ac.th
ยาลดความอ้วนที่ดีที่สุด : zivahealthyslim.com