ชุดผ้าไทย แต่งกายด้วยผ้าไทย..ไม่ล้าสมัยอย่างที่คิด

1861

ผ้าไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และนำมาต่อยอดพัฒนาให้ความเป็นไทยไม่สูญหาย ความเป็นไทยถูกถ่ายทอดลงในลวดลายต่างๆที่ปรากฏบนผืนผ้า เช่น ลายไทย ลายดอกไม้ ลายเถาไม้ รูปทรงเรขาคณิต รูปสัตว์ในวรรณคดี สัญลักษณ์ประจำท้องถิ่นต่างๆ ผ่านการถักทอด้วยฝีมือคนไทยเป็น ชุดผ้าไทย มีความละเอีดยด สวยงาม ผู้ที่สวมใส่จะรู้สึกสบายตัว และมีสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยอีกด้วยคะ

ชุดผ้าไทย

เอกลักษณ์ของชุดผ้าไทย

ผ้าไทย คือผ้าทุกชนิดที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยฝีมือคนไทย ได้แก่ ผ้าลายขิด ผ้ายก ผ้าจก น้ำไหล มัดหมี่ ผ้าพื้นเมือง ผ้าไทยแบบดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างประเทศและบุคคลทั่วไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทอมาจากเครื่องกี่มือและกี่กระตุก มีโครงสร้างของเส้นด้ายทำจากเส้นใยธรรมชาติ วิธีการทอผ้าไทยก็มีหลากหลาย เช่น มัดหมี่ จก ขิด แพรวา ยกดอก เป็นต้น ผ้าที่ได้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปอันเป็นลักษณะเฉพาะของผ้าที่ได้จาการทอวิธีที่แตกต่างกัน รวมทั้งการสร้าง ลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของไทย และแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นคะ

ชุดที่ตัดจากผ้าไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้แต่งกายด้วยแบบเสื้อทรงพระราชทานเป็นครั้งแรกตัดเย็บด้วยผ้าไทย เสื้อพระราชทานมีลักษณะเด่นคือ เป็นเสื้อคอตั้ง สาบผ่าอก กระดุม 5 เม็ด ตัดด้วยผ้าไทย มีด้วยกัน 3 แบบ คือแบบแขนสั้น ใช้ในโอกาสธรรมดาทั่วไปหรือในการปฏิบัติงานหรือในโอกาสพิธีการกลางวัน (มักใช้ผ้าสีอ่อน) และในโอกาสพิธีการกลางคืน (ใช้ผ้าสีเข้มได้ ) แบบแขนยาวไม่คาดผ้า มีลวดลายสุภาพ ใช้ในพิธีการกลางวัน (ใช้ผ้าสีเรียบจาง) ใช้ในพิธีการกลางคืน และแบบแขนยาวคาดเอว มักใช้ในโอกาศพิธีการสำคัญแบบเต็มยศ การออกแบบชุดเหล่านี้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศดินฟ้าบ้านเรามาก ลักษณะของแบบเสื้อยังมีความร่วมสมัยใช้ได้ในทุกโอกาส ทำให้ผู้สวมใส่มีบุคลิกภาพดี และผ้าไทยที่นำมาตัดก็เป็นผ้าไหมไทย หรือผ้าเฉพาะท้องถิ่น เช่น ผ้าขิด ผ้ากาบบัว ผ้าหางกระรอก ผ้ามัดหมี่ ทำให้ผ้าไทยเหล่านี้จึงได้รับการยอมรับนำมาใช้ตัดชุดมากขึ้น แต่ละท้องถิ่นก็จะนำผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนมาตัดเป็นชุดพระราชทานให้สวยงาม น่าใช้ และสร้างความภูมิใจว่าเป็นเสื้อต้นแบบมาจากฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าราชการและประชาชนโดยทั่วไปก็นิยมนำผ้าไทยมาตัดเป็นชุดต่างๆมากขึ้น ไม่ใช่จำกัดวงอยู่แค่ข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งยศศักดิ์เท่านั้น สำหรับชุดประจำชาติของผู้หญิง ก็มีด้วยกัน 8 แบบ คือ ชุดไทยเรือนต้น ไทยวิตรลดา ไทยอมรินทร์ ไทยจักรี ไทยดุสิต ไทยจักรพรรดิ์ ไทยศิวาลัย และไทยบรมพิมาน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทรงพระราชทานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศง 2503

เมื่อคนเริ่มหันมาสนใจกับผ้าไทยและนำมาตัดเป็นชุดสวมใส่กันมากขึ้น การออกแบบของชุดก็ได้รับการพัฒนาตามๆกันมา นักออกแบบสมัยใหม่พยายามออกแบบชุดผ้าไทยให้ดูทันสมัยตามแฟชั่น หรือจะเรียกว่าให้ดูเป็นสากลมากขึ้น สามารถนำไปใส่ได้ในหลายโอกาสและไม่ดูเชย ล้าสมัยอีกต่อไป ยิ่งกว่านั้นนักออกแบบไทยเองก็พยายามทำให้ผ้าไทยหรือชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยให้ได้รับการยอมรับจากวงการแฟชั่นทั่วโลกให้มากยิ่งขึ้น

การแต่งชุดไทยนอกจากจะเป็นการสนับสนุนสินค้าผ้าไทยแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ผ้าไทย เผยแพร่ผ้าไทย และวัฒนธรรมไทยให้ไปไกลทั่วโลก เผยแพร่ความเป็นไทยที่พวกเราชาวไทยล้วนภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ที่บรรพบุรุษเราได้สร้างไว้ให้ อยากให้ลองหันมาใส่ชุดที่ตัดจากผ้าไทยกันดูบ้างคะ ไม่จำเป็นต้องเลือกต้องเป็นเฉพาะผ้าไหมนะคะ ผ้าพื้นบ้านของไทยก็ได้คะ สวยเหมือนกัน

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชุดผ้าไทย
คุณลักษณะพิเศษของผ้าไทย :phathai.tripod.com

Previous articleเครดิตบูโร คืออะไร จำเป็นแค่ไหน เช็คได้อย่างไร รู้ไว้ก่อนจะถูกหลอก
Next articleชุดผ้าไหมไทย ใส่แล้วช่วยเสริมบุคคลิกภาพอีกทั้งชื่อเสียงดังไกลไปทั่วโลก