บ้านทรงไทย เอกลักษณ์ของประเทศไทย

319

บ้านคือวิมานของเรา บ้านเป็นที่พักอาศัยของครอบครัว หากเราย้อนไปเมื่ออดีตบ้านไทยก็จะมีความแตกต่างจากบ้านในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก อาจจะมีบ้างที่บ้านตามชนบท ตามต่างจังหวัด ที่ยังมีเค้าโครงของบ้านไทยแบบโบราณอยู่บ้าน สำหรับคนที่ไม่ทราบว่าบ้านไทยโบราณมีลักษณะหรือมีเอกลักษณ์แบบไหน เราจะย้อนยุคเพื่อทำความเข้าใจบ้านไทยโบราณกันนะคะ

บ้านทรงไทย

บ้านทรงไทย โบราณอย่างที่เราพบเห็นกันในภาคกลางนั้น แสดงถึงภูมิปัญญาของคนไทยก่อนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่เขตมรสุม มีฝนตกชุกในหน้าฝน มักเกิดน้ำท่วม และมักปลูกบ้านใกล้ริมน้ำซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักเมื่ออดีต บ้านจึงถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์หลายอย่าง รวมทั้งยังป้องกันน้ำท่วมบ้านอีกด้วย

บ้านทรงไทย มักเป็นบ้านชั้นเดียว ยกพื้นสูงเพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วมอย่างที่กล่าวไว้แล้ว ใต้ถุนสูงมักยกให้สูงกว่าศีรษะคนยืน เพราะจะได้เดินได้สะดวก ไม่ต้องคอยก้มศีรษะ การยกใต้ถุนนั้นยังช่วยให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ทำให้บ้านเย็นสบาย นอกจากนี้บริเวณใต้ถุนยังสามารถใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ไว้เป็นนั่งเล่น ทำกิจกรรมของคนในครอบครัว ไว้ตั้งเครื่องทอผ้า ตั้งเตากวนขนม เก็บสิ่งของต่างๆ เป็นต้น

ประเทศไทยเองยังอยู่ในเขตร้อน ทำให้มีแดดจัดในหน้าร้อน บ้านจึงถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความร้อนได้เป็นอย่างดี ลักษณะเด่นอีกอย่างของบ้านทรงไทยก็คือ “หลังคา” นิยมทำหลังคาสูง เพื่อให้อากาศภายในบ้านไม่ร้อน อากาศจะลอยตัวสูงขึ้น รวมทั้งความสูงของหลังคาจะถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้านอย่างช้าๆ ทำให้ผู้อาศัยรู้สึกเย็นสบาย อีกทั้งยังมีชายคาที่ยื่นคลุมตัวบ้าน เป็นการป้องกันแสงแดดส่งโดนตัวบ้านตรงๆ ป้องกันฝนสาด ทำให้ห้องเย็นตลอดเวลาอีกด้วย

อีกทั้งบ้านทรงไทยมักจะมีพื้นที่โล่งมากเกินว่าครึ่งหนึ่งของตัวบ้าน เราจะเห็นได้จากบริเวณชานหน้าบ้าน ที่เปิดโล่งเพื่อรับลม ลานรับแขกก็เปิดโล่ง อยู่บริเวณกลางเรือน ใช้สำหรับจัดงานประเพณีนิยมต่างๆ ยิ่งทำให้อากาศภายในตัวบ้านไม่ปิด ถ่ายเทสะดวก ส่งผลให้ตัวบ้านเย็นสบาย เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่ออกแบบบ้านได้ดีมาก ลมจะพัดผ่านใต้ถุนบ้าน ผ่านร่องไม้พื้นเรือนขึ้นมาบนบ้าน หลังคาที่สูงก็ทำให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ด้านบน และพื้นที่โล่งบนเรือนยังทำให้การไหลเวียของอากาศได้เป็นอย่างดี แล้วแบบนี้บ้านถึงได้เย็นอยู่ตลอดเวลา ความโปร่งของเรือนนั้นยังมาจากการออกแบบของฝาบ้าน เช่น การใช้ฝาสำหรวดหรือฝาขัดแตะ การมีช่องลมบนจั่วของบ้าน เป็นต้น

บ้านไทยโบราณมักจะนิยมวางไม้กระถางไว้บนตัวเรือนด้วย เช่น ตะโกดัด บอนไว รวมทั้งอ่างบัวก็เป็นที่นิยม บางเรือนยังสร้างค่อมต้นไม้ใหญ่ ซึ่งนิยมต้นไม้ที่มีดอกไม้หอม ทำให้บนเรือนดีร่มรื่นและมีกลิ่นหอมของดอกไม้ บริเวณรอบเรือนมักนิยมปลูกต้นไม้เช่นกัน ชนิดให้ร่มเงา รวมทั้งดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ยามเมื่อลมพัดเข้าสู่บ้าน ก็จะนำกลิ่นหอมอ่อนๆเข้าสู่ตัวบ้านด้วย

อีกหนึ่งลักษณะเด่นของบ้านทรงไทยโบราณคือ การประกอบบ้าน เพราะไม่ได้ใช้ตะปูคะ เป็นการเข้าลิ้นไม้ด้วยเดือย ทั้งบ้าน ชิ้นส่วนๆต่างของบ้านจะถูกสร้างเป็นชิ้นๆจนครบเสียก่อน แล้วค่อยมาประกอบลงสลัก ด้วยเหตุนี้หากจำเป็นต้องย้ายบ้านก็สามารถถอดเดือยหรือสลัก แยกบ้านเป็นส่วนๆ แล้วนำไปปลูกใหม่ได้ทันที

เราจะเห็นได้ว่าคนไทยสมัยก่อนออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับธรรมชาติ อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี รู้จักป้องกันภัยธรรมชาติ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดี มีสุขไม่ว่าจะเป็นฤดูใดๆก็ตาม

ข้อมูลอ้างอิง

บ้านไทยคือภูมิปัญญาไทย: ku.ac.th
เรือนไทย 4 ภาค และคติความเชื่อเรื่องการปลูกสร้างบ้าน: sookjai.com
ภูมิปัญญาจาก บ้านเรือนไทย: baanlaesuan.com

Previous articleบ้านโมเดิร์น สไตล์สร้างบ้านสำหรับคนรุ่นใหม่
Next articleวิธีป้องกันไม่ให้..งูเข้าบ้าน