เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ การตรวจสภาพรถ ก่อนต่อภาษีประจำปี

19084

การตรวจสภาพรถ มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความพร้อมและความปลอดภัยของการใช้รถ ว่าอยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ อยู่ในสภาพที่เหมาะสมในการใช้งานหรือไม่ รวมถึงการตรวจลดมลภาวะ (ควันดำ) อันเกิดจากรถด้วย เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ต้องนั่งไปกับรถคันนั้นๆ

การตรวจสภาพรถ

โดยกรมการขนส่งได้กำหนดให้รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ต้องนำรถไปตรวจสภาพรถเสียก่อนจึงจะสามารถต่อภาษีประจำปีได้ ซึ่งเจ้าของรถสามาถนำรถไปตรวจสภาพรถได้ล่วงหน้า 3 เดือน ก่อนที่จะมีการเสียภาษีประจำปี

ตรวจสภาพรถ ได้ที่ไหนบ้าง?

สถานที่รับตรวจสภาพรถมีอยู่มากมายหลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นของกรมการขนส่ง และสถานตรวจสภาพรถของเอกชน (ตรอ.) แต่การไปตรวจสภาพรถที่ ตรอ. นับเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะคิวไม่เยอะ ใช้เวลาตรวจสภาพรถประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว และที่ ตรอ. ทุกแห่งก็รับต่อภาษีประจำปีด้วย โดยมีค่าบริการนิดหน่อย (ประมาณ 100 บาท) ถ้าเทียบกับค่าเสียเวลา ค่าน้ำมันรถ ในการไปเสียภาษีประจำปีที่กรมการขนส่งด้วยตัวเองก็นับว่าสะดวกสบายไม่ใช่น้อย

สำหรับสถานตรวจสภาพรถของเอกชน (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก จะมีตราสัญลักษณ์ให้สังเกต ดังนี้

ตราสัญลักษณ์ สถานตรวจสภาพรถของเอกชน (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก
ตราสัญลักษณ์ สถานตรวจสภาพรถของเอกชน (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก

สามารถตรวจสอบสถานที่รับตรวจสภาพรถ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 1,636 แห่งทั่วประเทศ ได้ที่นี่ autocheck.in.th (pdf)

การตรวจสภาพรถ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

ในการไปตรวจสภาพรถ ต้องเตรียมเอกสารแค่เล่มทะเบียนรถเท่านั้น แต่หากจะให้ทางสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ช่วยต่อภาษีประจำปีด้วย ก็ต้องเตรียมใบ พ.ร.บ. ไปด้วย สำหรับการตรวจสภาพรถโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แต่ถ้าให้ ตรอ. ช่วยต่อภาษีประจำปีด้วย จะใช้เวลาประมาณ 1 วันทำการ ซึ่งทาง ตรอ. จะนัดวันมารับเล่มทะเบียน ป้ายวงกลม และใบเสร็จในการชำระภาษีประจำปีในวันถัดไป

การตรวจสภาพรถ ราคาเท่าไหร่?

สำหรับอัตราค่าตรวจสภาพรถ ตามสถานรับตรวจสภาพรถเอกชนทุกแห่ง โดยทั่วไปจะคิดอัตราค่าตรวจสภาพรถเท่าๆกัน คือ

  • ค่าตรวจสภาพรถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท
  • ค่าตรวจสภาพรถยนต์ น้ำหนักไม่เกิน 2 ตัน (น้ำหนักรถเปล่า) คันละ 200 บาท
  • ค่าตรวจสภาพรถยนต์ น้ำหนักเกิน 2 ตัน (น้ำหนักรถเปล่า) คันละ 300 บาท

ในกรณีที่ตรวจสภาพรถไม่ผ่าน ต้องนำรถกลับไปแก้ไขข้อบกพร่องให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงกลับมาตรวจสภาพใหม่ และหากนำรถกลับมาตรวจสภาพใหม่อีกครั้งไม่เกิน 15 วัน จะคิดค่าตรวจสภาพรถครึ่งหนึ่งของราคาค่าตรวจสภาพตามปกติ (100 บาท) แต่หากนำรถมาตรวจสภาพใหม่เกินจาก 15 วันขึ้นไป ก็จะคิดค่าตรวจสภาพเท่ากับราคาปกติ (200 บาท)

หมายเหตุ ข้อมูลนี้เป็นของ บริษัท ยูพีดี จำกัด หากไปตรวจสภาพรถที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนอื่นๆ ควรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้วย

การตรวจสภาพรถ จะตรวจอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปการตรวจสภาพรถ จะมีการตรวจความพร้อมการใช้งานของรถอยู่ 2 – 3 อย่าง คือ

  • ตรวจความพร้อมของสัญญานไฟ เช่น ไฟหน้า ไฟสูง ไฟหรี่ ไฟกระพริบ ฯลฯ
  • ตรวจสภาพของการเบรก ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง
  • ตรวจควันดำ โดยใช้ระบบกระดาษกรอง (Filter Smokermeter) ซึ่งค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน ร้อยละ 50 (รถส่วนมากมักจะมีปัญหาในข้อนี้)

เทคนิคเล็กๆน้อยๆ ในการตรวจสภาพรถให้ผ่านเกี่ยวกับควันดำ

ก่อนที่จะไปตรวจสภาพรถ ควรทำการตรวจสอบควันดำด้วยตัวเองเสียก่อน โดยการเร่งเครื่องจนสุดคันเร่ง หากมีควันดำออกมามาก ก็ควรทำการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนนำรถไปตรวจสภาพ ดังนี้

  • ทำความสะอาดไส้กรอง หรือเปลี่ยนไส้กรองใหม่
  • เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และกรองน้ำมันเครื่อง
  • ตรวจเช็คและปรับตั้งหัวฉีดน้ำมันให้มีแรงดันที่เหมาะสม

หากเตรียมรถให้พร้อมก่อนนำไปตรวจสภาพรถ ก็จะสามารถผ่านขั้นตอนต่างๆได้ไม่ยากนัก แต่ถ้ารถอยู่ในสภาพไม่พร้อม ก็อาจต้องนำรถกลับมาแก้ไข ทำให้เสียเวลาและยังเสียเงินค่าตรวจสภาพรถเพิ่มขึ้นอีก ควรกันไว้ดีกว่าแก้นะครับ

ข้อมูลอ้างอิง:
การตรวจสภาพรถ : dlt.go.th
ตรวจสภาพรถ ตรอ. : upd.co.th
ขั้นตอนการตรวจวัดควันดำ : busthai.net

Previous articleครีมหน้าใส สูตรสมุนไพรธรรมชาติ ขมิ้นชัน D.I.Y.
Next articleประกันภัยรถยนต์ เรียนรู้ก่อนตัดสินใจทำประกัน