มะเร็งเต้านม ภัยร้ายของผู้หญิงที่ต้องรู้ทันความเสี่ยง

8405

มะเร็งเต้านม คือ การแบ่งตัวอย่างผิดปกติของเซลล์ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม จะแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลืองไปสู่อวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ กระดูก ปอด ตับ สมอง เมื่อเซลล์มะเร็งมีจำนวนมากขึ้นก็จะแย่งสารอาหาร และปล่อยสารที่เป็นอันตรายทำลายอวัยวะต่างๆ ทำให้เสียชีวิตได้

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ส่วนในผู้ชายก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้แต่น้อยมากๆ  เพียง 1 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มักมีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม ผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมข้างเดียวก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดกับเต้านมอีกข้างได้สูง การมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย หรือการหมดประจำเดือนช้า การไม่มีบุตร การใช้ยากลุ่มฮอร์โมนติดต่อกันนาน รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น น้ำหนักเกิน ดื่มแอลกฮอล์ การรับประทานอาหาร ไม่ออกกำลังกาย การได้รับรังสีในปริมาณสูงๆ ความเครียด มลภาวะเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านมได้ง่ายคะ

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของ มะเร็งเต้านม

ผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการใดแสดงออกมาหรืออาจมีอาการผิดปกติ เช่น มีก้อนในเต้านมหรือใต้แขนบริเวณรักแร้ หัวนมบุ๋ม มีน้ำเหลืองไหลออกมา เต้านมมีผื่นแดงคล้ายผิวส้ม รู้สึกร้อน และมีอาการปวดบริเวณเต้านม ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการของมะเร็งเต้านมก็เป็นไปได้นะคะ แพทย์จะทำการตรวจ วินิจฉัยความรุนแรงของอาการและวางแผนทำการรักษาต่อไป

แพทย์มักจะแนะนำให้สุภาพสตรีคลำเต้านมด้วยตนเองเพื่อเป็นการตรวจหาก้อนมะเร็งเต้านมเบื้องต้น ส่วนผู้หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไปก็จะแนะนำให้เข้าตรวจเต้านมด้วย วิธีแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นประจำทุกปี และอาจตรวจร่วมกับการตรวจอัลลตร้าซาวด์และเอ็มอาร์ไอ ซึ่งสามารถเห็นก้อนเนื้อและจุดหินปูนชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนการตรวจเลือดเพื่อหามะเร็งเต้านมนั้นมีความแม่นยำต่ำเนื่องจากผลตวรจเลือดเกี่ยวกับมะเร็งเช่น CA153, CEA ที่มีความผิดปกติมีน้อยมากเพียงร้อยละ 20 ขณะเดียวกันผู้ที่มีผลเลือดปกติก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้วก็ได้

วิดีโอสาธิตวิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง

แหล่งที่มา youtube.com : วิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง

การรักษาเมื่อป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านม

เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้วแพทย์จะทำการพิจารณาว่าจะจำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งเต้าหรือสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านม ไว้ได้ ( Breast conservation therapy ) โดยการตัดเต้านมออกบางส่วน หรือตัดเฉพาะก้อนเนื้อร้ายออกเท่านั้น อีกทั้งแพทย์จะทำการดูการแพร่กระจายของเชื้อว่าเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ ถ้าเกิดการแพ่รกระจายก็จำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองออกเพื่อควบคุมโรค และลดอัตราการเสี่ยงของการเกิดซ้ำ

หลังจากทำการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยอาจจะได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อยับยั้งหรือทำลายเซลล์มะเร็ง การฉายแสงเพื่อหยุดยั้งการเจริญและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง และการใช้ยาต้านฮอร์โมนซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค สามารถแบ่งระยะของโรคได้ 4 ระยะ ดังนี้ 1.)ก้อนมะเร็งมีขนากเล็กกว่า 2 ซม.และไม่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง 2.) ก้อนมีขนาด 2-5 ซม.และ/หรือมีการแพร่เข้าต่อมน้ำเหลือง 3.) ก้อนมะเร็งใหญ่กว่า 5 ซม.และแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองจนทำให้ต่อมน้ำเหลืองรวมติดกันเป็นก้อน และ4.) เป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย เข่น ปอด กระดูก

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจำเป็นต้องได้รับการตรวจอยู่เป็นประจำเพื่อติดตามเพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดซ้ำได้อีก แพทย์จึงแนะนำวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับการตรวจมะเร็งเต้านมที่บ้านคือการสังเกตสภาพเต้านมตนเองเป็นประจำว่ามีรูปทรงผิดเพี้ยนไปจากเดิมหรือไม่และการคลำเต้านมเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางคลำเต้านมวนเป็นก้นหอย หากพบคลำเจอก้อนเนื้อก็ไม่ตกใจคะ แต่ควรไปพบแพทย์ให้วินิจฉัยอาการจะดีที่สุด อาจเป็นก้อนเนื้อธรรมดาหรือซีสส์ก็เป็นไปได้

ข้อมูลอ้างอิง:
มะเร็งเต้านม : bumrungrad.com
วีธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง : medinfo2.psu.ac.th
มะเร็งเต้านม : si.mahidol.ac.th

Previous articleรู้จัก มะเร็งปอด สาเหตุ อาการและการป้องกันรักษา
Next articleรวมสุดยอดเทคนิค วิธีไล่หนู ออกจากบ้าน ด้วยวิธีธรรมชาติ