“ความแรร์ของไอเทม” หนึ่งในหัวใจของเกม NFT

1240

NFT ไม่ใช่เรื่องใหม่ในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม ตัวอย่างเกมที่ได้รับความนิยมบนระบบ Blockchain ก็มี Axie Infinity ซึ่งเปิดตัวตั้งแต่ปี 2018, CryptoKitties เกมสะสมแมวเหมียว และ Thetan Arena เกมแนว MOBA แบบ RoV ที่ทำเงินได้ เพียงแต่บริษัทเกมชั้นนำเพิ่งขยับตัวอย่างจริงจังจึงเริ่มมีข่าวออกมาเป็นกระแส

ความแรร์ของไอเทม

SEGA ประกาศจะนำเกมคลาสสิคกลับมาขายใหม่ในรูปแบบ NFT ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนนี้เป็นต้นไป ประมาณเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ขณะที่ Ubisoft, Square Enrix และ Take-Two Interactive มีทีท่าสนใจแต่ยังไม่บอกรายละเอียด NFT Game เป็นเกมที่อยู่บน Blockchain ระบบการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่งที่เชื่อมต่อข้อมูลของแต่ละคนเหมือนกับ Chain (ห่วงโซ่) และ Block ของข้อมูลลิงค์ต่อไปยังทุก ๆ คน โดยที่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลนั้น ๆ

เกม NFT ใช้ Cryptocurrencies หรือสกุลเงินคริปโตเพื่อซื้อขายไอเทมภายในเกม หรือเล่นเกมเพื่อเก็บสะสมไอเทมแล้วนำไปขายหรือแลกมาเป็นเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริษัทพัฒนาเกมจะสร้างสิ่งต่าง ๆ ในเกมให้ดึงดูดความสนใจของบรรดาเกมเมอร์และมีมูลค่าเพิ่มได้อย่างไรเหมือนอย่างวงการศิลปะที่ซื้อขายผลงาน NFT กันครึกโครม

Axie Infinity หนึ่งในเกม NFT ยอดนิยมที่ผู้เล่นซื้อขายตัวละครที่มีรูปร่างหน้าตาน่ารัก ซึ่งปลายปีที่แล้ว เคยมีข่าวว่าคนไทยยอมจ่ายเงินกว่า 4.8 ล้านบาทเพื่อซื้อตัวละครระดับ Mystic Axie

Axie infinity เป็นเกมแนว turn-based RPG ที่ผู้เล่นจะนำตัวละครมาต่อสู้กันด้วยการ์ดในมือคล้ายกับเกม Pokemon ผสมกับเกม Yu-Gi-Oh โดยตัวเกมมีทั้งระบบ PvP และ PvE แต่ที่ยกเครื่องเป็นเกม NFT เมื่อทีมงานพัฒนาตัวละครที่มีลักษณะแตกต่างเฉพาะตัวไม่ซ้ำกัน ซึ่งเกิดจากยีนและการผสมพันธุ์กันของตัวละคร โดยตัวเกมมีชิ้นส่วนร่างกายมากกว่า 500 ชิ้น

ตัวละครแบ่งเป็นกลุ่ม Beast, Plant, Bug, Reptile, Aquatic และ Bird ซึ่งแต่ละชนิดก็มีระดับความหายากต่างกันไปได้แก่ Common, Rare, Eltra-Rare และ Legendary ผู้เล่นจึงสามารถผสมพันธุ์ตัว Axie เพื่อเลี้ยงและนำมาต่อสู้กัน โดยเจ้าของ Axie สามารถตั้งราคาให้เหมาะสมกับความสวยงาม ความสามารถ และความหายากของตัวละครนั้น ๆ ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสนบาท

ส่วนคำถามว่าทำไมต้องยอมเสียเงินเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ บาทเพื่อซื้อ Axie คงต้องตอบกว้าง ๆ ว่าคงเป็นความรู้สึกเดียวกับนักสะสมในวงการอื่น  ๆ อย่าง พระเครื่อง ภาพวาด เครื่องดนตรี หนังสือเก่า ฯลฯ นั่นเองเหมือนประโยคที่ว่า “ทุกอย่างล้วนมีค่าเมื่ออยู่ในมือของคนที่เห็นค่า” หรือถ้าพูดกับเกมเมอร์ก็ต้องใช้คำว่า “ความแรร์ของไอเทม”

Previous articleAnimal Crossing: New Horizons ขึ้นที่ 2 เกมขายดีตลอดกาลของ Nintendo Switch
Next articleTake-Two พร้อมลุยตลาดเกม NFT ยันหาวิธีปิดช่องเก็งกำไร