ตราสารหนี้ การลงทุนที่คุ้มค่าและปลอดภัย

2790

ตราสารหนี้ เป็นตราสารทางการเงินอย่างหนึ่ง ที่แสดงความเป็นหนี้ระหว่างผู้ออกตราสาร (ลูกหนี้) กับผู้ถือตราสาร (เจ้าหนี้ หรือ ผู้ลงทุน) โดยที่ตราสารหนี้จะต้องมีกำหนดอายุ และอัตราดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ใดๆเป็นจำนวนที่แน่นอน โดยกำหนดวันที่จะชำระดอกเบี้ยและเงินต้นลวงหน้าไว้ตั้งแต่ออกตราสารหนี้ และตราสารหนี้สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ หากยังไม่ครบกำหนดอายุของตราสารหนี้

ตราสารหนี้
ประเภทของตราสารหนี้

ตราสารหนี้มีอยู่ด้วยกันหลายประเภทและหลายๆรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ โดยจะตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในแต่ละประเภทด้วย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ตามประเภทของผู้ออกตราสารหนี้ ดังนี้

1. ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ออกตราสารหนี้ เพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป เพื่อมาใช้จ่ายในภารกิจของทางภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในช่วงขาดดุลงบประมาณ ตราสารหนี้ชนิดนี้ผู้ลงทุนจะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาลโดยตรง ซึ่งแทบไม่มีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้และเงินต้นเลย แต่อาจมีความเสี่ยงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาด ตราสารหนี้รัฐบาลจะเป็นออกเป็น


1.1.ตั๋วเงินคลัง เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี โดยมีอายุ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน ตั๋วเงินคลังจะไม่จ่ายดอกเบี้ย แต่จะมีส่วนลดจากมูลค่าหน้าตั๋วเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน

1.2.พันธบัตรรัฐบาล เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยทั่วไปจะจ่ายดอกเบี้ยเป็นอัตราคงที่ โดยจ่ายปีละ 2 ครั้ง และชำระคืนเงินต้นครั้งเดียวในวันที่ไถ่ถอน ซึ่งแบ่งเป็น

•ระยะสั้น 1 – 5 ปี

•ระยะกลาง 5 – 10 ปี

•ระยะยาว ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป (ปัจจุบันมีระยะสูงสุดคือ 20 ปี)

1.3.พันธบัตรออมทรัพย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของประชาชนทั่วไป โดยมีเงื่อนไขที่ระบุไว้ให้ขายกับนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่นิติบุคคล แต่ยกเว้นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรบางประเภท เช่น สภากาชาดไทย มูลนิธิต่างๆ ฯลฯ พันธบัตรออมทรัพย์นี้มักจะจำกัดเงินการลงทุนเอาไว้ แต่ก็มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล

2. ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรภาครัฐ เป็นตราสารหนี้ที่ระดมเงินทุนเพื่อใช้ในรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรภาครัฐ เช่น พันธบัตรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ จะมีการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ ปีละ 2 ครั้ง และชำระคืนเงินต้นครั้งเดียวเหมือนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

3. ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน เรียกว่า หุ้นกู้ เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี เป็นการระดมเงินทุนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปใช้จ่ายในกิจการ มักจะมีเงื่อนไขรายละเอียดที่น่าสนใจหลายรูปแบบ โดยทั่วไปจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุน แต่ก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินและความมั่นคงของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ด้วย

ประโยชน์ของการลงทุนในตราสารหนี้

การลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรในแบบต่างๆหรือหุ้นกู้ หากเปรียบเทียบกับการฝากเงินทั่วไป จะมีข้อแตกต่างกันดังนี้

•ให้ผลตอบแทนสูงในความเสี่ยงต่ำ การฝากเงินออมทรัพย์กับธนาคารจะมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ราวๆ 0.75% แต่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะให้ผลตอบแทนมากกว่า 3% และแทบไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้

•มีความมั่นคงปลอดภัย การลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรภาครัฐ จะมีอันดับความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูงและมีความปลอดภัย ส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ก็คงต้องพิจารณาเป็นรายๆไป บางบริษัทก็มีการรับรองค้ำประกันจากบริษัทแม้ในต่างประเทศด้วย

•ช่วยกระจายความเสี่ยง การลงทุนในตราสารหนี้ช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในหลากหลายรูปแบบ เพราะมีความมั่นคงและปลอดภัยมากกว่าการลงทุนแบบอื่นๆ

•เป็นแหล่งรายได้ประจำ เนื่องจากตราสารหนี้ (โดยเฉพาะของรัฐบาล) จะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดๆในระยะเวลาที่แน่นอน และจ่ายเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุ จึงมีรายได้ที่แน่นอนและสม่ำเสมอในแต่ละงวด

•สามารถซื้อขายโอนเปลี่ยนมือกันได้ ซึ่งเป็นข้อดีของการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะไม่ต้องรอให้ครบกำหนดอายุ ก็ซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ลงทุน

สำหรับนักลงทุนและประชาชนทั่วไป สามารถทำการซื้อขายตราสารหนี้ได้ที่ตลาดตราสารหนี้ (Thailand Bond Exchange หรือ TBX) ผ่านทางระบบการซื้อขายแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นระบบการส่งมอบและชำระราคาที่เชื่อถือได้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ข้อมูลตราสารหนี้อื่นๆ
ตราสารหนี้ หรือที่เรียกว่า ผู้ลงทุน : set.or.th
ตราสารหนี้มีกี่ประเภท : thaibond.com

Previous articleอาชีพเสริม เพิ่มรายรับเข้ากระเป๋า คุณทำได้ถ้าใจรัก
Next articleหลังคาเมทัลชีส … การเลือกซื้อและข้อดีข้อเสีย