เกษตรพอเพียง แนวทางแก้ปัญหาเกษตรกรที่ยั่งยืน

1786

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้หลักมาจากสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร และเป็นไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่นอกจากผลิตอาหารได้พอเพียงกับประชากรของประเทศแล้ว ยังมีเหลือที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ จนถึงกับมีการตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ครัวของโลก” เกษตรพอเพียง จึงเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตแบบพอมีพอกิน

เกษตรพอเพียง

แต่ในขณะเดียวกันถ้าเรามองไปยังสังคมเกษตรชุมชน จะพบว่ายังมีสถานะที่ไม่มั่นคงนัก การดำเนินงานเป็นไปตามอัตถภาพที่มีอยู่ และไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดความมั่นคงได้ เพราะยังขาดบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาการเกษตร และเกษตรกรของไทยกำลังจะกลายเป็นแค่แรงงานเกษตร ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง เนื่องจากถูกนายทุนซื้อไปหมดแล้ว แต่ปัจจุบันได้มีการนำแนวคิดเรื่องเกษตรพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำให้การเกษตรของไทยมีความมั่นคงมากขึ้น

ที่มาของเกษตรพอเพียง

จากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ทรงพระราชทานมานานกว่า ๓๐ ปีแล้ว เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ที่จะนำไปสู่ความสุข ในการดำเนินชีวิตได้อย่างแท้จริง

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”… (18 กรกฎาคม 2517)

เกษตรพอเพียงตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

เกษตรพอเพียง เกิดจากการพัฒนาตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักพิจารณาอยู่ ๕ ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 เรื่องของกรอบแนวความคิด เป็นการชี้แนะแนวทางการใช้ชีวิตและปฏิบัติตน โดยมีพื้นฐานมาจากการดำเนินวิถีชีวิตแบบดั่งเดิมของสังคมไทย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยได้ตลอดเวลา โดยมุ่งเน้นการอยู่รอดจากภัยและวิกฤตต่างๆ และเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืน เป็นการมองในเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ส่วนที่ 2 เรื่องของคุณลักษณะ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกระดับชนชั้น โดยเน้นปฏิบัติอยู่บนทางสายกลาง และมีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ส่วนที่ 3 เรื่องของคำนิยาม คำว่า “พอเพียง” จะต้องประกอบไปด้วยคุณลักษณะ 3 ประการดังนี้

1.ความพอประมาณ หมายถึง ความรู้จักพอดี ไม่น้อยไม่มากจนเกินไป ไม่ไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

2.ความมีเหตุผล หมายถึง ความคิด การกระทำ รวมถึงการตัดสินใจเรื่องความพอเพียง จะเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงผลที่ตามมาอย่างรอบคอบ

3.การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง มีการเตรียมตัวที่ดี พร้อมรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในระยะใกล้และไกล

ส่วนที่ 4 เรื่องของเงื่อนไข ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆให้อยู่ในระดับพอเพียง ต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน คือ

1.เรื่องความรู้ ต้องประกอบไปด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆรอบด้าน และนำความรู้เหล่านั้นมาใช้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและวางขั้นตอนในการปฏิบัติ

2.เรื่องคุณธรรม ต้องมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความพากเพียร อดทน และใช้สติในการดำเนินชีวิต

ส่วนที่ 5 เรื่องแนวทางปฏิบัติ และผลที่คาดว่าจะได้รับ หมายถึง มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้มีความสมดุลและยั่งยืน

การใช้ชีวิตแบบพอเพียง

ตามแนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง จะมีหลักปฏิบัติสำคัญอยู่ 5 ข้อ คือ

1.เน้นการประหยัด ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต

2.ประกอบอาชีพด้วยซื่อสัตย์สุจริต

3.ไม่แก่งแย่งผลประโยชน์ และแข่งขันกันในทางการค้ากันแบบรุนแรง

4.ไม่หยุดนิ่ง ใฝ่หาความรู้ใส่ตัว เพื่อสร้างรายได้ให้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ

5.ประพฤติปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่วตามหลักศาสนา

เกษตรพอเพียง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปสู่เป้าหมายการสร้างความมั่นคงในทางการเกษตรได้ และเป็นการช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีความมั่นคงมากขึ้น ประเทศเราเป็นประเทศทางการเกษตรไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม การหันมาพัฒนาเรื่องการเกษตรจึงเป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง

ข้อมูลเกษตรพอเพียง
เกษตรพอเพียง : guru.sanook.com

Previous articleเที่ยวอุทัยธานี .. เมืองแห่งสายน้ำสะแกกรัง
Next articleเกษตรอินทรีย์ ระบบการเกษตรแบบบูรณาการ